วิชญ์พาส พิมพ์อักษร
พลังงาน (energy) คือ ความสามารถที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไหวหรือทำงานโดยสามารถเปลี่ยนจากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่งได้ [“พลังงาน,” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔; [1]] การจัดประเภทพลังงานที่เป็นที่นิยมมากวิธีการหนึ่ง คือ การแบ่งออกเป็น “พลังงานใช้แล้วหมดไป” (non-renewable energy) กับ “พลังงานหมุนเวียน” (renewable energy)
พลังงานใช้แล้วหมดไปส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuels) อาทิ ถ่านหิน (coal) น้ำมันดิบ (crude oil) ปิโตรเลียม (petroleum products) และก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ซึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก [2] การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง
ส่วนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานใช้แล้วไม่หมดไป เป็นพลังงานที่เมื่อใช้ไปแล้วสามารถหาทดแทนหรือผลิตขึ้นใหม่ได้ [3] ส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อาทิ พลังงานน้ำ (hydropower) พลังงานลม (wind energy) พลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) และพลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy) พลังงานหมุนเวียนอาจรวมถึงพลังงานชีวมวล (biomass energy) ซึ่งประกอบด้วย เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) ไม้และเศษไม้ และก๊าซชีวภาพ (biogas) รวมถึงพลังงานจากขยะ (waste-to-energy (WtE) หรือ energy-from-waste (EfW)) [4] แต่พลังงานชีวมวลและพลังงานจากขยะอาจถูกจัดเป็นพลังงานใช้แล้วหมดไปด้วย เพราะเป็นพลังงานที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และเมื่อมนุษย์หยุดกิจกรรมดังกล่าว แหล่งพลังงาน 2 ประเภทนี้ก็จะหมดไป
นอกจากนี้ยังมีพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งหลายคนอาจมองว่าผลิตพลังงานที่ถือว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่แหล่งกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ แร่ยูเรเนียม U-235 ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ใช้แล้วหมดไป [5] อย่างไรก็ดี พลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก จึงอาจเรียกรวมกันว่า พลังงานคาร์บอนต่ำ (low-carbon energy) การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่นำมาอภิปรายในบทความนี้จึงหมายถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานคาร์บอนต่ำ โดยสำรวจผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนผ่านพลังงานในระดับโลก
มนุษย์เริ่มต้นจากการพึ่งพาพลังงานชีวมวลแบบดั้งเดิม อาทิ ฟืน ของเหลือจากการเกษตร และมูลสัตว์ [6] จนกระทั่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1760 ซึ่งเปลี่ยนจากแรงงานคนและสัตว์เป็นแรงงานจากเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงานหลัก และเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1870 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหินมาสู่พลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียม โดยพลังงานไฟฟ้าในช่วงเริ่มต้นก็ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานน้ำ ต่อมา ในช่วงทศวรรษที่ 1910 มนุษย์ก็ได้ใช้ถ่านหินมากกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล คิดเป็นพลังงานถ่านหิน 55.23% พลังงานชีวมวลแบบดั้งเดิม 40.77% และพลังงานอื่น ๆ (พลังงานน้ำ, ก๊าซธรรมชาติ, ปิโตรเลียม) 4% หรือเท่ากับพลังงานฟอสซิล 58.67% กับพลังงานคาร์บอนต่ำ 41.32% นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มนุษยชาติใช้พลังงานฟอสซิลมากกว่าพลังงานคาร์บอนต่ำ
หลังจากนั้น อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 จนถึงปัจจุบัน โลกใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในต้นทศวรรษที่ 1960 ใช้พลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียมมากกว่าพลังงานชีวมวลแบบดั้งเดิม โดยคิดเป็นพลังงานถ่านหิน 37.02% พลังงานปิโตรเลียม 26.60% พลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลแบบดั้งเดิม 21.31% และพลังงานอื่น ๆ (ก๊าซธรรมชาติและพลังงานน้ำ) 15.07% หรือเท่ากับพลังงานฟอสซิล 74.34% กับพลังงานคาร์บอนต่ำเพียง 25.66% และในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเริ่มมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ มนุษย์กลับยิ่งพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้นจนเป็นแหล่งพลังงานอันดับหนึ่งมากกว่าพลังงานถ่านหิน โดยคิดเป็นพลังงานปิโตรเลียม 34.56% พลังงานถ่านหิน 30.80% พลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลแบบดั้งเดิม 17.49% และพลังงานอื่น ๆ (ก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ) 17.15% หรือเท่ากับพลังงานฟอสซิล 77.39% กับพลังงานคาร์บอนต่ำ 22.61%
ในปี ค.ศ. 1970 ก๊าซธรรมชาติก็กลายเป็นแหล่งพลังงานอันดับสามมากกว่าพลังงานชีวมวลแบบดั้งเดิมและเป็นรองเพียงน้ำมันปิโตรเลียมและถ่านหินซึ่งเท่ากับว่า พลังงานฟอสซิลทั้ง 3 ประเภทเป็นแหล่งพลังงาน 3 อันดับแรกของโลก โดยคิดเป็นพลังงานปิโตรเลียม 40.24% พลังงานถ่านหิน 25.70% พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 14.48% พลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลแบบดั้งเดิม 14.23% และพลังงานคาร์บอนต่ำอื่น ๆ 5.35% หรือเท่ากับพลังงานฟอสซิล 80.42% กับพลังงานคาร์บอนต่ำ 19.58%
สังเกตได้ว่า ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ที่มนุษย์เริ่มใช้พลังงานฟอสซิลมากกว่าพลังงานคาร์บอนต่ำ การใช้พลังงานฟอสซิลมีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นมาตลอด และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 แหล่งพลังงานโลก 4 อันดับแรก (น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงชีวมวลแบบดั้งเดิม ตามลำดับ) ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่ามนุษย์จะนำพลังงานคาร์บอนต่ำชนิดใหม่ ๆ มาใช้ อาทิ พลังงานลมในปี ค.ศ. 1987 พลังงานแสงอาทิตย์ในปี ค.ศ. 1989 และเชื้อเพลิงชีวมวลสมัยใหม่ในปี ค.ศ. 1990 แต่ความต้องการพลังงานของมนุษย์ก็ยังสูงขึ้นทำให้ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลล่าสุดในปี ค.ศ. 2019 มนุษย์ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลถึง 78.90% และพลังงานคาร์บอนต่ำเพียง 21.10% [7]
การเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทย
ประเทศไทยใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลายชนิด ทั้งที่เป็นพลังงานฟอสซิล อาทิ น้ำมัน น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ และที่เป็นพลังงานคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานชีวมวล โดยใช้ในภาคอุตสาหกรรม คมนาคม การค้าและการบริการสาธารณะ การเกษตรและการป่าไม้ แต่ประเทศไทยไม่ได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์
ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยใช้พลังงานขั้นสุดท้ายคิดเป็น พลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 52.95% พลังงานไฟฟ้า 22.62% พลังงานถ่านหิน 13.75% และพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 10.67% ของการใช้พลังงานทั้งหมด (เปรียบเทียบตามหน่วย พันตันน้ำมันดิบ: ktoe) [8] เนื่องจากอัตราส่วนการใช้พลังงานในประเทศไทยนำเสนอในรูปแบบของพลังงานขั้นสุดท้าย ดังนั้น การวิเคราะห์อัตราส่วนการใช้พลังงานระหว่างพลังงานฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนจึงต้องเริ่มจากการคำนวณอัตราส่วนการใช้พลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าก่อน และนำอัตราส่วนที่ได้นั้นมาคำนวณในข้อมูลการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศไทยต่อไป
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในไทย
ประเทศไทยเริ่มผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 โดยโรงไฟฟ้าวัดเลียบของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (The Siam Electricity Co., Ltd.) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำที่ใช้ไม้ฟืน ถ่านหิน น้ำมัน และแกลบเป็นเชื้อเพลิง ต่อมา รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งโรงไฟฟ้าสามเสนเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 และจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นการลิกไนท์ (กลน.) รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในภาคใต้ และจัดตั้งการไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าโดยก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์เป็นเชื้อเพลิงที่จังหวัดนนทบุรีในปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบัน คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ [9] ต่อมาปี พ.ศ. 2502 การลิกไนท์ (กลน.) ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จังหวัดลำปาง โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลได้จัดตั้ง “การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ” (กฟ.อน.) ขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยในระยะแรกได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จังหวัดขอนแก่นและเขื่อนน้ำพุงที่จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ.2507 การลิกไนท์ (กลน.) เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ใช้พลังงานจากถ่านหินลิกไนต์ และในปีเดียวกัน การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) ทำพิธีเปิดเขื่อนภูมิพลสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก [10]
รัฐบาลได้รวมรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2512 คือ การลิกไนท์ ( กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) [11] ในเวลานั้นประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 58.62% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 32.87% โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 5.97% และโรงไฟฟ้าดีเซล 2.53% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด [12]
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1 – 1,300 เมกะวัตต์ สามารถเดินเครื่องติดต่อกันได้เป็นเวลานานจึงใช้เป็นโรงไฟฟ้าฐานเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ไอน้ำแรงดันสูงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยเชื้อพลิงที่ใช้ คือ น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด [13]
โรงไฟฟ้าพลังน้ำใช้แรงดันน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำซึ่งอยู่ระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้าหมุนกังหันน้ำซึ่งมีแกนต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าตลอดเวลาที่มีน้ำไหลผ่านจึงไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอดเวลาได้ เพราะการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการระบายน้ำเพื่อการชลประทาน นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมากและพื้นที่ก่อสร้างต้องมีลักษณะเฉพาะจึงก่อสร้างได้จำกัด จึงเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่มีข้อจำกัดสูง [14]
โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซใช้การเผาไหม้ของส่วนผสมระหว่างก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซลกับอากาศความดันสูงจากเครื่องอัดอากาศและส่งไอ้รอนที่มีความดันและอุณหภูมิสูงไปหมุนกังหันก๊าซซึ่งต่อกับแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถเดินเครื่องได้รวดเร็วเหมาะสำหรับการจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงและกรณีฉุกเฉิน แต่ประสิทธิภาพต่ำ ค่าบำรุงรักษาสูง และต้นทุนสูงหากใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง จึงถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่มีไว้สำหรับกรณีจำเป็น [15]
โรงไฟฟ้าดีเซลใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทำงานคล้ายกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ฉีดน้ำมันดีเซลเข้าไปในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ที่ถูกอัดอากาศที่เรียกว่าจังหวะอัด แล้วน้ำมันดีเซลที่ถูกฉีดเข้าไปจะทำให้เกิดการสันดาปกับอากาศที่มีความร้อนสูงเกิดการระเบิดก้านลูกสูบเคลื่อนที่ลงไปที่แกนข้อเหวี่ยงที่ต่อกับแกนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าที่เริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็วเหมาะสำหรับจ่ายพลังงานไฟฟ้าในช่วงต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงและกรณีฉุกเฉิน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ แต่สามารถทำเป็นโรงไฟฟ้าสำเร็จรูปเคลื่อนย้ายได้ด้วย จึงถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่มีไว้สำหรับกรณีพิเศษเช่นกัน [16]
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ประเทศไทยใช้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นโรงไฟฟ้าหลักมาเป็นเวลานาน โดยมีโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สและโรงไฟฟ้าดีเซลไว้ใช้ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงและกรณีฉุกเฉิน โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ
01 – ประเทศไทยเริ่มซื้อกระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 คิดเป็น 2.09% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า
02 – เริ่มผลิตไฟฟ้าโดยใช้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในปี พ.ศ. 2526 คิดเป็นไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 62.07% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 21.06% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 10.90% พลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3.74% โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 2.23% และโรงไฟฟ้าดีเซล 0.01% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเป็นการนำเอาเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซและเครื่องกังหันไอน้ำมาทำงานเป็นระบบร่วมกัน โดยการนำไอเสียจากโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซซึ่งมีความร้อนสูงประมาณ 500 องศาเซลเซียส ไปผ่านหม้อน้ำ (Heat Recovery Steam Generator) และถ่ายเทความร้อนให้กับน้ำเพื่อให้น้ำเดือดกลายเป็นไอหมุนกังหันไอน้ำที่ต่อตรงไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูง ประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่องได้ดี และก่อมลภาวะต่ำ แต่ยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จึงถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่ใช้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอดเวลาอีกชนิดหนึ่ง [17]
03 – เริ่มผลิตไฟฟ้าโดยใช้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในปี พ.ศ. 2533 คิดเป็นไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 72.38% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 11.32% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 11.25% โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 3.34% พลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ 1.66% โรงไฟฟ้าดีเซล 0.05% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 0.002% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า นับเป็นปีที่ 2 ที่ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำและหลังจากนั้นก็ผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเสมอมา
04 – ประเทศไทยซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 คิดเป็นไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 53.74% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 25.86% พลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ 9.78% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 8.47% โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 2.14% โรงไฟฟ้าดีเซล 0.003% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 0.001% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า
05 – ประเทศไทยซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในปี พ.ศ. 2543 และพึ่งพาไฟฟ้าจากต่างประเทศมากที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ 40.14% ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 30.65% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 21.99% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 6.12% โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 1.10% โรงไฟฟ้าดีเซลและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างละ 0.002% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า ในช่วงเวลานี้นโยบายการไฟฟ้าของไทยจึงมักกล่าวถึงความมั่นคงทางพลังงานเป็นสำคัญ
06 – ข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ 66.85% ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 21.59% โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 9.17% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2.35% โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 0.04% และโรงไฟฟ้าดีเซล 0.0001% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า และหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซที่ไม่ได้อยู่ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้งหมด สังเกตได้ว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากซึ่งตัวเลขในปี พ.ศ. 2563 ยังน้อยกว่าตัวเลขในปี พ.ศ. 2562 ที่ 68.51% เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ แต่หากไม่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะสูญเสียความมั่นคงทางพลังงานยิ่งกว่าปัจจุบัน เพราะนอกจากประเทศไทยจะต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศแล้ว ยังต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศอีกด้วย
อัตราส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศโดยคำนวณจาก โรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ โรงไฟฟ้าดีเซล และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เริ่มต้นที่ 67.13% ในปี พ.ศ. 2512 ขึ้นไปสูงสุดที่ 93.86% ในปี พ.ศ. 2537 และค่อย ๆ ลดลงมาต่ำสุดที่ 28.19% ในปี พ.ศ. 2561 ส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่คำนวณจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำขนาดเล็ก [18] เริ่มต้นที่ 32.87% ในปี พ.ศ. 2512 ขึ้นไปสูงสุดที่ 42.33% ในปี พ.ศ. 2519 และลดลงเหลือน้อยกว่า 10% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แล้วจึงลดลงเหลือน้อยกว่า 5% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 [19]
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 4 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564
ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) และการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน (7.2)
เอกสารอ้างอิง
[1] UAC (2021), “ประเภทของพลังงาน,” URL: https://www.uac.co.th/th/knowledge-sharing/336/types-of-energy [accessed on 7 October 2021].
Britannica, “Energy,” URL: https://www.britannica.com/science/energy [accessed on 7 October September 2021].
[2] National Geography, “Non-renewable energy,” URL: https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/non-renewable-energy/ [accessed on 7 October 2021].
[3] UAC (2021), “ประเภทของพลังงาน,” URL: https://www.uac.co.th/th/knowledge-sharing/336/types-of-energy [accessed on 7 October 2021].
[4] Christina Nunez (2019), “RENEWABLE ENERGY 101,“ https://www.nationalgeographic.com/environment/article/renewable-energy [accessed on 7 October 2021].
[5] Inspire (2021), “Is Nuclear Energy Renewable? The Future of Nuclear Energy,“ https://www.inspirecleanenergy.com/blog/clean-energy-101/is-nuclear-energy-renewable [accessed on 7 October 2021].
[6] Green Facts, „“Traditional biomass,“ https://www.greenfacts.org/glossary/tuv/traditional-biomass.htm [accessed on 7 October 2021].
[7] Hannah Ritchie and Max Roser, “ Energy Production and Consumption,” https://ourworldindata.org/energy-production-consumption [accessed on 7 October 2021].
[8] สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน, “Final Modern Energy Consumption,” http://www.eppo.go.th/epposite/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/Summary/T01_02_03-2.xls[accessed on 7 October 2021].
[9] กฟผ., http://www.nbp.egat.co.th/history.php [accessed on 7 October 2021].
[10] กฟผ., “ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย,” https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=11&Itemid=152; [accessed on 7 October 2021].
[11] อ้างแล้ว
[12] กฟผ., “การผลิตพลังงานไฟฟ้า,” https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&layout=edit&id=78&Itemid=200 [accessed on 7 October 2021].
[13] กฟผ., “โรงไฟฟ้าพลังความร้อน,” https://accessibility.egat.co.th/2-uncategorised/82-plant-thermal [accessed on 7 October 2021].
[14] กฟผ., “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ,” https://accessibility.egat.co.th/2-uncategorised/84-plant-hydro [accessed on 7 October 2021].
[15] กฟผ., “โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ,” https://accessibility.egat.co.th/2-uncategorised/83-plant-gas-turbine [accessed on 7 October 2021].
[16] กฟผ., “โรงไฟฟ้าพลังดีเซล,” https://accessibility.egat.co.th/22-electricity-generation/85-plant-diesel [accessed on 7 October 2021].
[17] กฟผ., “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม,” https://accessibility.egat.co.th/2-uncategorised/81-plant-combined-cycle [accessed on 7 October 2021].
[18] กฟผ., “โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน,” https://accessibility.egat.co.th/22-electricity-generation/86-plant-renewable [accessed on 7 October 2021].
[19] กฟผ., “การผลิตพลังงานไฟฟ้า,” https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&layout=edit&id=78&Itemid=200 [accessed on 7 October 2021].
Last Updated on ตุลาคม 31, 2021