สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุม UN Biodiversity Conference หรือ COP 15 ได้เริ่มขึ้นหลังจากที่เลื่อนการประชุมมาเป็นเวลานาน เพื่อหารือกันถึงกรอบ “Post-2020 Global Biodiversity Framework” สำหรับใช้จัดการปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สปีชีส์สิ่งมีชีวิต และถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนที่สัมพันธ์กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยอธิปรายข้อเสนอเป้าหมายการปกป้องและอนุรักษ์ “30×30” – 30% ผืนดิน และ 30% ทะเลและมหาสมุทร ภายในปี 2573 ด้วยมาตรการอนุรักษ์ที่ออกแบบมาเฉพาะแต่ละพื้นที่ อาทิ การจัดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี “โมเดลการอนุรักษ์” หลักในลักษณะของการจัดให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งดำเนินการโดยรัฐ รวมถึงกรณีที่ร่วมมือกับองค์การสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศนั้น นักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคมให้ความเห็นว่าอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุด โดยมีการออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ที่ประชุมปรับแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเสียใหม่ ตั้งแต่การใช้ “ภาษา” ในกรอบการดำเนินการ และปรับแนวทางเป็น “สิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง” สู่การกระจายอำนาจ ทรัพยากร เงินทุนด้านสิ่งแวดล้อม – สภาพภูมิอากาศ และการตัดสินใจ ให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นซึ่งพึ่งพาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้น เป็นผู้ดูแลและเป็น “ผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม” (environmental defenders) ที่รัฐจะต้องคุ้มครองและสนับสนุน
ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันความล้มเหลวของกรอบระหว่างประเทศและมาตรการนำโดยรัฐในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงป้องกันประเด็นการแย่งยึดที่ดิน (land grabs) ด้วย
เพราะหากสำรวจปัญหาที่ผ่านมาจะพบว่า โมเดลหลักในการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมแต่เดิม ซึ่งเป็นการบริหารร่วมระหว่างภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศขนาดใหญ่ อาทิ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) นั้น มีช่องโหว่ด้านการติดตามและสอดส่องปัญหาในพื้นที่หนึ่ง ๆ ให้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ผลลัพธ์ของความตั้งใจอนุรักษ์ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ขณะเดียวกัน โมเดลของการจัดให้เป็น “พื้นที่อนุรักษ์” หรือ “พื้นที่ป่าสงวน” เบื้องหลังมักมาจากการบังคับย้ายคนที่อาศัยอยู่เดิมออกไป หรือใช้วิธีการทางทหารในนามของการปกป้องประชากรสัตว์ป่าและความอุดมสมบูรณ์ของป่า ทว่าวิธีการเหล่านี้ เน้นไปที่สิ่งแวดล้อมโดยที่ละเลยสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ซ้ำยังไม่สามารถจัดการปัญหาในมิติของสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน และความเหลื่อมล้ำ (จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ) ได้
รัฐบาลในหลายประเทศเองก็มักจะเผชิญกับการชั่งน้ำหนักใช้อำนาจตัดสินใจระหว่างการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ กับการส่งเสริมสิทธิชุมชนของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ไปพร้อมกับการอนุรักษ์
ส่วนกรอบระหว่างประเทศ COP15 ที่ผ่านมาซึ่งมีความมุ่งมั่น แต่ก็ยังล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนด ภาคประชาสังคมจึงมองว่า ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางเสียใหม่
“บ่อยครั้งที่กระบวนการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อม มักจะตัดประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนออกไป หรือทำให้มันเป็นเรื่องรอง” เป็นหนึ่งข้อความสำคัญในจดหมายเปิดผนึก ที่แนวร่วมนักสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคประชาสังคม 166 แห่งได้เผยแพร่เมื่อ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ผู้นำโลกและผู้เข้าร่วมประชุม COP15 ตระหนักว่าการจะจัดการกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และประเด็นที่ติดสอยห้อยตามในมิติสังคมได้นั้น จะต้องใช้ “แนวทางสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง” ในการพัฒนา
David Boyd ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวเสริมไว้เช่นกันว่า “การให้ชนพื้นเมืองมีบทบาทนำ การอนุรักษ์โดยที่มีสิทธิเป็นฐาน จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การปกป้องสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า การนำแนวทางที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางมาใช้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นการเปลี่ยนมโนทัศน์ทั้งในเชิงอำนาจ กฎหมาย และการบริหารจัดการ และจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า เพราะชนพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่น ไม่ควรเป็นผู้รับผลกระทบจากการบริโภคทรัพยากรที่ล้นเกิน แต่เป็น “ผู้พิทักษ์” ที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง โดยมีบทบาทนำในการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้น ๆ ส่วนชุมชนและหน่วยงานนอกพื้นที่ก็จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนสำคัญอย่างเท่าเทียม และสามารถปรับแนวทางกระจายงบประมาณลงสู่องค์กรรากฐานหรือชนพื้นเมืองได้ทันที แทนที่จะเป็นงบประมาณสำหรับการอนุรักษ์ที่นำโดยรัฐ
การเจรจาหารือในที่ประชุม COP15 นี้ ยังได้เรียกร้องไปถึงภาคธุรกิจ และ “ภาษา” ที่ควรจะกำหนดในกรอบฯ อย่างชัดเจน ในการกำหนดภาระหน้าที่และอำนาจของภาครัฐ และอำนาจของชนพื้นเมือง/ชุมชนท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้ ยังคงจะต้องจับตาดูผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการให้คำมั่น วันนี้จวบจนการจัดประชุมครั้งต่อไปในปีหน้าที่คุณหมิง ประเทศจีน โดยเฉพาะในประเด็นแนวทางที่ใช้ และรูปแบบความรับผิดรับชอบของผู้ที่กระทำความผิดต่อสิ่งแวดล้อม ที่ ณ วันนี้ ยังไม่มีการกำหนดชัดเจน
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | การแย่ง-ยึดที่ดิน (Land grabs): การพรากสิทธิเหนือที่ดินและทรัพยากรไปจากชุมชนคนท้องถิ่น
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิที่ดินทั้งหมด 227 คน ถูกฆาตรกรรมในปี 2020 นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 9 ปี
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบกและความหลากหลายทางชีวภาพ (15.1 – 15.c)
อาทิ (15.1) การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน การบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน (15.2) หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม เพิ่มการปลูกป่า (15.5) ลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (15.a) ระดมและเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกแหล่งเพื่อการอนุรักษ์และใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา:
Advocates demand for a new human rights-based approach to conservation (eco-business)