Finance for Biodiversity Initiative (F4B) กับรายงานล่าสุด “Aligning Development Finance with Nature’s Needs: Estimating the nature-related risks of development bank investments” เสนอแนะให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะ (Public Development Banks) ทั่วโลก ทั้งระดับชาติ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ จัดทำการทดสอบภาวะวิกฤติ/ความเข้มแข็งเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity-related stress test) ของงบดุล (balance sheet) ทั้งหมดภายใน 12 เดือนข้างหน้า เพื่อสำรวจดูความเสี่ยงทางการเงินและผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความโปร่งใสของการให้กู้ – การลงทุนของสถาบันเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ เพราะข้อมูลในรายงานดังกล่าวชี้ว่า เงินสำหรับการลงทุนและการให้เงินกู้โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะ อาทิ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เป็นไปได้ว่ามีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าราว 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และในขณะเดียวกัน การลงทุนที่มักจะลงทุนกับภาคส่วนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการที่สิ่งแวดล้อมมีความเปราะบางมากขึ้นด้วย
รายงานดังกล่าว เผยแพร่ล่วงหน้าก่อนการประชุม Finance in Common Summit จะเกิดขึ้น โดยเป็นการประชุมที่มีธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์เพื่อสนับสนุนเงินทุนสำหรับกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะมีภารกิจที่จะส่งเสริมและปกป้อง (safeguard) เช่นเดียวกับบรรดาประเทศชั้นนำอย่าง G20 และ G7 ในฐานะหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะขนาดใหญ่หลายแห่ง
ถึงกระนั้น ข้อมูลของรายงานระบุว่า กิจกรรมใด ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นเงินกู้ – เงินลงทุนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเหล่านี้ ซึ่งมักจะลงทุนกับภาคส่วนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ อาหารและเกษตรกรรม การทำเหมือง และโครงสร้างพื้นฐาน อาจเป็นการทำลายทรัพยากร การใช้ทรัพยากรที่มากเกิน หรือการก่อมลพิษและการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ เพราะกิจกรรมส่วนมากมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างเช่นพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ป่าไม้
ตัวอย่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์รายใหญ่ในบราซิล หรือบริษัทน้ำมันปาล์มในไลบีเรียได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยการสนับสนุนทางการเงินของธนาคารเหล่านี้ แต่แลกมาด้วยการใช้พื้นที่จากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น ในกรณีนี้ รายงานชี้ว่าเป็นตัวอย่างของการให้เงินสนับสนุนโดยที่ไม่ได้มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน 40% ของสินทรัพย์ 11.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะที่มีมากกว่า 450 แห่งทั่วโลก ก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการพึ่งพา (กิจกรรมที่ใช้เงินลงทุนไปกับ) ธรรมชาติและระบบนิเวศ อาทิ แหล่งน้ำ ที่ดิน และการผสมเกสร เพราะสิ่งเหล่านี้กำลังเผชิญกับภัยคุกคามและมีความเปราะบางมากขึ้น
รายงานฉบับนี้เสนอว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะจะต้องเข้าใจและจัดการกับ ‘ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ’ (nature-related risks) ทั้งสองทางดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เน้นการพัฒนาที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม เพราะการที่ไม่มีการประเมินผลหรือรายงานความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ก็คงเป็นเรื่องยากที่หุ้นส่วน สาธารณะชน และรัฐบาล จะทราบได้ว่าภารกิจของธนาคารเพื่อการพัฒนาจะไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียเอง
ทั้งนี้ การจะกระตุ้นและผลักดันให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะ อาทิ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างอเมริกา (Inter-American Development Bank) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) ซึ่งมีมูลค่าของเงินลงทุนคิดเป็นราว 10% ของการลงทุนในโลกนั้น ดำเนินการจัดทำงบดุลและการลงทุนตามที่ F4B เสนอได้ F4B แนะนำว่า รัฐบาลประเทศในกลุ่ม G7 และ G20 ที่ร่ำรวยควรแสดงบทบาทนำ ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ที่มีอิทธิพลสำคัญในธนาคารเพื่อการพัฒนาเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นโอกาสที่ทั้งรัฐบาลกลุ่มประเทศชั้นนำและธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะจะดำเนินการให้เป็นไปตามคำมั่นที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 23 – Decouple – แยกออกจากกัน (economic growth from environmental degradation)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
#SDG15 ระบบนิเวศบนบกและความหลากหลายทางชีวภาพ ในภาพรวม อาทิ
-(15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและเขตแห้งแล้ง
-(15.2) หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า
-(15.5) หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
-(15.9) บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปสู่การวางแผน กระบวนการพัฒนา ยุทธศาสตร์การลดความยากจน และบัญชีทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
-(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
แหล่งที่มา:
Development banks linked to nature loss worth $800 bln per year (Thomson Reuters Foundation)
How development finance can damage nature (Finance for Diversity Initiative)