การเปิดตัว รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 ที่จัดทำโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นวาระสำคัญของการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal :SDGs) ของประเทศไทยที่ผ่านมาแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปีเต็ม โดยใช้ข้อมูล เป้าหมาย ตัวชี้วัดของสหประชาชาติและยุทธศาสตร์มาเป็นตัวประเมิน พบว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในทุกมิติ แม้จะยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องการการดำเนินงานที่จริงจังเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น
SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านอัปเดต 9 เป้าหมายย่อยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยที่ยังอยู่ในสถานะวิกฤต หรือ ‘ติดตัวแดง’ จากรายงาน 5 ปี สถานะ SDGs ประเทศไทย โดยสภาพัฒน์ ในฉบับรวบรัด พร้อมกับสำรวจดูว่ามีไอเดียอะไรที่เกิดขึ้นในโลกที่พอจะช่วยจัดการความท้าทายเหล่านี้จากรายงานข่าวตลอดปีของ SDG Move ได้บ้าง
| ค่าสีแสดงสถานะของเป้าหมาย
การประเมินความสำเร็จของความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ไทย มีการแบ่งระดับสถานะความก้าวหน้าเป็นค่าสี 4 สี ได้แก่ สีแดง (ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับวิกฤต) สีส้ม (ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับที่มีความเสี่ยง) สีเหลือง (ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย) และสีเขียว (บรรลุค่าเป้าหมาย) โดยรูปแบบการใช้สีไฟจราจรกำหนดระดับความก้าวหน้าเช่นนี้ อาจคุ้นตากันมาบ้างแล้วจากการนำเสนอ SDG Index โดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN)
| มีความก้าวหน้าแต่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในภาพรวม และวิกฤตยังปรากฏในระดับเป้าหมายย่อย
ผลการประเมินสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังที่ปรากฏในรูปว่ายังไม่มีเป้าหมายใด (goals) ที่เรียกได้ว่าบรรลุค่าเป้าหมาย (สีเขียว) โดยทั้งหมดมีสัดส่วนอยู่ในระดับค่าสีเหลืองและสีส้มในจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่มีเป้าหมายใดจากทั้งหมด 17 เป้าหมายที่มีความก้าวหน้าไม่ถึง 50% (สีแดง)
ในระดับเป้าหมายย่อย (targets) ผลการประเมินพบว่าไทยมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนบรรลุค่าเป้าหมาย (สีเขียว) ถึงเกือบหนึ่งในสาม (30.8%, 52 จาก 169 เป้าหมายย่อย) แต่สัดส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (สีเหลือง) และมี 9 เป้าหมายย่อยที่แม้จะผ่านการดำเนินการมา 5 ปีเต็มแล้ว แต่ผลลัพธ์ยังมีความท้าทายสูงถึงระดับเรียกว่าวิกฤต ทั้งในมิติการพัฒนาคน (people) มิติด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (prosperity) และมิติด้านสิ่งแวดล้อม (planet)
9 เป้าหมายย่อยที่สถานการณ์ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย 50% (ขั้นวิกฤต)
● SDG 2 ยุติความหิวโหย
01 – SDG 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มยากจนและกลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
02 – SDG 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของ หญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573 รวมถึง บรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะเตี้ยแคระแกร็น และผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568
03 – SDG 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติ ทางการเกษตรท่ีมีภูมิคุ้มกัน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและการผลิตซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาวะอากาศรุนแรงสุดขั้ว ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาท่ีดินและคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
● SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
04 – SDG 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ภายในปี 2573 ด้วยการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
05 – SDG 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหน่ึง ภายในปี 2563
06 – SDG 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและ การปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
● SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ
07 – SDG 10.c ลดค่าธรรมเนียมการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่น (migrant remittance) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศท่ีมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ร้อยละ 5 ภายในปี 2573
● SDG 14 นิเวศชายฝั่งและมหาสมุทร
08 – SDG 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงเศษซากขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
09 – SDG 14.5 ภายในปี 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้ เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีท่ีสุดที่มีอยู่
| จุดไหนที่ยังทำให้เป้าหมายย่อยเหล่านี้ ‘วิกฤต’
01 – SDG 2.1 การยุติความหิวโหยและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ
“มีกิน แต่ไม่ใช่ทุกคนมีของมีประโยชน์กิน”
ข้อมูล 2562 พบว่ามีคนไทยใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนด้านอาหาร (Food Poverty Line) อยู่ 254,100 คน หรือคิดเป็น 0.37% ของประชากรทั้งหมด นั่นแปลว่า พวกเขาไม่สามารถซื้อหาอาหารที่จำเป็นเพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้ และแม้ว่าไทยจะมีคะแนนดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก (Global Food Security Index: GFSI) ปีเดียวกันค่อนข้างดี (65.1/100 คะแนน) แต่สัดส่วนความชุกของภาวะขาดสารอาหาร (Prevalence of Undernourishment) ของคนไทยกลับมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อย ๆ ความท้ายจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ความขาดแคลนอาหารแต่เป็นการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนในคนบางกลุ่ม
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – แก้ปัญหาการเข้าถึงอาหารที่เน้นไปที่การได้รับอาหารที่โภชนาการเหมาะสมผ่านนโยบายแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (targeted policy instruments) อย่างกลุ่มเปราะบาง เช่น คนยากจน และใช้เครือข่ายหรือกลไกที่มีอยู่เดิมเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้ได้ตรงจุด
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● Breakfast After the Bell โครงการจัดอาหารเช้าฟรีหลังเข้าเรียนสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถไปถึงโรงเรียนก่อนชั้นเรียนเริ่มได้ในโรงเรียนในพื้นที่ยากจน นอกจากนักเรียนจะรับอาหารที่โภชนาการเหมาะสมแล้วยังช่วยลดจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนอย่างต่อเนื่องได้
02 – SDG 2.2 การยุติภาวะทุพโภชนาการ
“เด็กไทยมีปัญหาทั้งอ้วน ผอม และเตี้ย”
ข้อมูลสถานการณ์ด้านภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีของไทย พบสัดส่วนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการทั้งสามรูปแบบ ได้แก่ ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง และอ้วน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่สามารถเข้าถึงโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตตามช่วงวัย จะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กและนำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ เมื่อโตขึ้น
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – มีโครงการส่งเสริมโภชนาการให้แก่ครัวเรือนยากจนและเปราะบางโดยเฉพาะ และอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อทำให้แน่ใจว่ากลุ่มเป้าหมายจะสามารถเข้าถึงโครงการอาหารต่าง ๆ ของรัฐได้
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● การติดฉลากบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ (Front-of-Package Labeling: FOPL) เตือนให้เด่นชัดหากอาหารมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน หรือโซเดียมสูง ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ และกระตุ้นให้ผู้ผลิตลดปริมาณส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลง
03 – SDG 2.4 ระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน
“พื้นที่เกษตรแบบยั่งยืนที่น้อยเกินไป”
เกษตรกรรมยั่งยืน คือ แนวปฏิบัติที่จะทำให้แน่ใจว่าระบบผลิตอาหารจะมีภูมิคุ้มกันและมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าพื้นที่ทำการเกษตรแบบยั่งยืนในไทยจะขยายตัวมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา กินพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.15 ล้านไร่ แต่ขนาดพื้นที่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ที่กำหนดให้มีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ถึง 7.5 ล้านไร่ในปี 2568
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – สร้างระบบแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น การพักชำระหนี้ให้เกษตรที่เปลี่ยนมาทำเกษตรยั่งยืน ให้สินเชื่อเป็นเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงการพัฒนาแนวทางที่สร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เกษตรยั่งยืน ให้สามารถออกสู่ตลาดโลกได้
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● ข้อเสนอแนะของ FAO ในการทำการเกษตรรูปแบบ ‘นิเวศเกษตร’ (Agroecology) มุ่งเน้นวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ ซึ่งจะช่วยระบบอาหารมีภูมิต้านทาน ยืดหยุ่น ฟื้นตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น
04 – SDG 3.4 การลดการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ
“โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง – สาเหตุการตายสุดฮิตของคนไทย”
การเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCDs) ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจ ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของคนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มด้านจำนวนที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้เกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่เปลี่ยนไปและปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองที่รุนแรงขึ้น โดยในปี 2562 ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหลอดเลือดสมองสูงสุดที่ 48.9 รายต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วง 5 ปีหลังก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ ส่งเสริมการใช้ telemedicine เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ได้รับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ในประเด็นปัญหาสุขภาพจิต เสนอให้สร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาในการค้นหากลุ่มเสี่ยงและกำหนดแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● The Partnership for Healthy Cities เครือข่ายเมืองระดับโลกที่มุ่งมั่นสร้างเมืองสุขภาพดีให้ชาวเมืองทุกคน โดยดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น สร้างสภาพแวดล้อมที่จำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมการเดินทางที่ใช้แรงกายเป็นหลัก เพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
● มาตรการด้านสุขภาพใหม่ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ประกาศว่าจะให้ประชาชนทุกคนเข้ารับการบำบัดรักษาปัญหาสุขภาพจิตในระบบสุขภาพของรัฐได้ฟรี
05 – SDG 3.6 การลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน
“ไทยตายบนถนนสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก”
การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เป็นรองจากโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ และยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นลำดับต้น. ๆ ของโลก รายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และถึงแม้ว่าตัวเลขจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในปี 2563 เนื่องจากการชะลอของกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายมาก
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – ภาครัฐต้องมีการแก้และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เช่น การตัดคะแนนใบอนุญาตขับรถ เชื่อมโยงค่าปรับการทำผิดกฎจราจรกับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ให้ครอบคลุมเพื่อเป็นตัวเลือกแทนรถส่วนตัว
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● 9 แนวทางที่จะช่วยให้ท้องถนนในประเทศยากจนและที่มีรายได้ปานกลางปลอดภัยขึ้น จากผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านความปลอดภัยทางท้องถนนและประธานสหพันธยานยนต์นานาชาติ และผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป (UNECE)
06 – SDG 3.9 การลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย มลพิษ และการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน
“มลพิษทางอากาศ วิกฤตสาธารณสุขที่แท้จริง”
สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 รุนแรงขึ้นทุกปีดังที่ปรากฏตามหน้าข่าว ในรายงานสถานการณ์มลพิษของไทยปี 2562ระบุว่ามีการวัดค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมงสูงกว่าค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ซึ่งจะนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงสถานการณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศที่มีแค่ 2% เท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมลพิษและการปนเปื้อนเหล่านี้มาจากกิจกรรรมทางเศรษฐกิจทั้งอุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือน
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – เสนอให้มีการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ควบคุมการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง อุตสาหกรรม ควบคุมรถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษ พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมและมีคุณภาพ กำหนดมาตรการที่จูงใจให้ครัวเรือนจัดการของเสียอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● ศึกษา (ร่าง) พระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ความพยายามผลักดันให้รัฐคุ้มครองสิทธิของประชาชนคนไทยทุกคนได้หายใจอากาศสะอาด (Rights to Clean Air) ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้มีสุขภาพและชีวิตที่ดี
07 – SDG10.c การลดค่าธรรมเนียมโอนเงินระหว่างประเทศ
“ภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานต่างถิ่นเป็นสัดส่วนสูง”
จากข้อมูลของธนาคารโลก แรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไทยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดในอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าร้อยละ 10 ต่อเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ เช่น การส่งเงินไประเทศอินเดียต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง 15.47% ต่างจากการส่งเงินจากญี่ปุ่นมาไทยที่มีค่าใช้จ่าย 5.4% ในจำนวนเงินเท่ากัน ค่าใชจ่ายส่วนนี้เป็นต้นทุนที่แรงงานย้ายถิ่นในไทยจะต้องแบกรับและเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – รัฐต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สถาบันทางการเงิน ให้มีบริการที่รองรับการทำธุรกรรมในค่าใช้จ่ายที่น้อยลง และให้แรงงานต่างถิ่นใช้งานได้สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● แนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนการลดค่าธรรมเนียมเงินโอนระหว่างประเทศบนเว็บไซต์ D+C Development and Cooperation ได้เสนอให้ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเข้าถึงบริการรับและส่งเงินได้ก่อน โดยไม่เกี่ยงสถานะทางการเงินหรือความสามารถในการเข้าถึงบริการออนไลน์ จัดให้มีการส่งเสริมความรู้การใช้ช่องทางส่งเงินออนไลน์เพราะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่า และให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าถึงบริการเปิดบัญชีธนาคารได้ด้วยเพื่อแรงงานจะได้ทั้งค่าธรรมเนียมถูกและได้รับบริการที่ปลอดภัย เป็นต้น
08 – SDG 14.1 การลดมลพิษทางทะเล
“ไทยยังไม่หลุด 10 อันดับแรกประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุดในโลก”
ปัญหามลพิษทางทะเล ที่เกิดจากกิจกรรมบนบกและในทะเลส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ข้อมูลดัชนีคุณภาพมหาสมุทร ปี 2562 จัดอันดับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 107 จาก 221 ประเทศ และได้คะแนน 60/100 คะแนน ซึ่งมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างช้า ๆ จากไม่กี่ปีก่อนหน้า โดยดัชนีนี้ประเมินทั้งการปนเปื้อนทะเลจากสารเคมี ธาตุอาหารส่วนเกิน จุลินทรีย์ที่มาจากมนุษย์และขยะ และยังมีข้อมูลว่าทะเลไทยมีขยะทะเลเพิ่มขึ้นโดย ในปี 2562 ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลกอันดับที่ 10 ซึ่งปรับอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 6 ในปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกหลายร้อยล้านชิ้น
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและควบคุมต้นกำเนิดของมลพิษที่มาจากกิจกรรมบนบกให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ พัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะและติดตามข้อมูลการปล่อยของเสีย
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● โครงการ NextWave Plastics ที่ทำการสร้างเครือข่ายระหว่างบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เป็นคู่แข่งทางการตลาดกัน เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของพลาสติกที่ลงสู่ทะเล (ocean-bound plastics supply chains) ทำให้สามารถช่วยป้องกันพลาสติกกว่า 1,300 ตันไหลลงสู่มหาสมุทรได้ภายในเวลาดำเนินงานเพียงสองปี
09 – SDG 14.5 การอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง
“พื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งไม่ถึงเป้าหมาย”
การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งเป็นกลไกที่จะช่วยให้เกิดการดูแลรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรมและยั่งยืน แต่ข้อมูลในปีล่าสุดจากรายงานระบุว่าพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งไทยยังกินพื้นที่เพียงแค่ 4.74% ของพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดของประเทศเท่านั้น ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่ 10% ค่อนข้างมาก
ข้อเสนอแนะจากรายงาน – นอกจากด้านการดำเนินงานตามหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังเสนอให้ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) เพื่อช่วยในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งให้แม่นยำและใช้เวลาน้อยลง
ไอเดียจัดการความท้าทาย
● การพัฒนาแพล็ตฟอร์มและแผนที่ดาวเทียม Allen Coral Atlas เพื่อแสดงสุขภาวะของแนวปะการังร่องตื้นในทะเลเขตร้อนทั่วโลก กินพื้นที่ถึง 253,000 ตารางกิโลเมตร มีข้อมูลทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยของสปีชีส์สิ่งมีชีวิต ความลึกของน้ำ รายละเอียดคุณลักษณะใต้น้ำ และอื่น ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมสำหรับอนุรักษ์ระบบนิเวศมหาสมุทรและแนวปะการัง
| พลเมืองอาจไม่สามารถช่วยแก้วิกฤตได้ทั้งหมด แต่มีหน้าที่ติดตามให้รัฐต้องลงมือ
การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนด้วย แม้ว่าในหลาย ๆ สถานการณ์ความยั่งยืนที่ยังคงถูกประเมินไว้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาในระดับที่ใหญ่เกินกว่าแอคชั่นของบุคคลธรรมดาจะทำได้ แต่ข้อมูลสถานะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในการผลักดัน ติดตาม และตรวจสอบให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายทุกด้านให้จริงจังและตรงจุดต่อไป
● อ่านเพิ่มเติม – Director’s Note: 13: สถานะ SDGs ประเทศไทย SDG Index vs รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563