Site icon SDG Move

SDG Insights | ส่องบทบาทและความท้าทายของภาคเอกชน ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย (EP.6)

เรียบเรียงและจัดทำโดย สมิตานัน หยงสตาร์

ว่ากันว่าการจะสร้างละครดี ๆ สักเรื่องให้ต้องใจผู้ชมได้ ผู้สร้างมักเลือกวางกลยุทธ์ ด้วยวิธีปั้นตัวละครเอกให้เป็นที่สนใจ แต่ก็ใช่ว่าตัวละครเอกจะต้องเป็นพระเอก หรือนางเอกเสมอไป บ่อยครั้งที่ตัวร้ายกลายเป็นผู้ที่ครองใจผู้ชมได้อยู่หมัด

การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยก็เช่นกัน หากเปรียบก็คงไม่ต่างกับซีรีย์ที่ไม่รู้จะมีกี่ซีซั่น เมื่อเวลาที่ผ่านไป อุปสรรคและปมปัญหาดูจะซับซ้อนไปทุกที “ภาคเอกชน” ก็คล้ายจะถูกวางเป็นหนึ่งในตัวละครเอกของละครยาวเรื่องนี้ แต่จะในฐานะของตัวดี หรือตัวร้ายกันละ?

SDG Move ร่วมพูดคุยกับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถึงมุมมองของภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition – JET) ว่าสถานการณ์โดยภาพรวมเป็นอย่างไร เริ่มเห็นอุปสรรคและความท้าทายไปในประเด็นใดบ้าง


| ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

“การเปลี่ยนผ่านมันต้องไปด้วยกัน (ทั้งรัฐและเอกชน) มองกระแสโลกถ้าเราไม่เปลี่ยนเราอยู่ไม่ได้นะ โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล…ปัญหาที่ปรากฏจะไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาการค้าการขายจะเข้ามามีบทบาทมาก”

เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ บรรดาผู้ประกอบการมักเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกโจมตีว่าดื้อแพ่งจนทำให้การเปลี่ยนผ่านไม่สัมฤทธิผล แต่ข้อยืนยันของ ดร.วิจารย์ ในครั้งนี้แตกต่างออกไป

ดร.วิจารย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างยอมรับ และเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ประจักษ์ถึงผลกระทบที่ตามมาหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการใช้พลังงานโดยตรง

จากข้อมูลที่ถูกเรียบเรียงไว้ในบทความ SDG Updates ตอนไทยอยู่จุดไหนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน? : สำรวจข้อมูลการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย (EP. 4) ระบุว่า ประเทศไทยใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลายชนิด ทั้งที่เป็นพลังงานฟอสซิล อาทิ น้ำมัน น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพลังงานคาร์บอนต่ำอื่น ๆ

โดยในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยใช้พลังงานขั้นสุดท้าย คือพลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สูงสุดอยู่ที่ 52.95% ของการใช้พลังงานทั้งหมด รองลงมา คือ พลังงานไฟฟ้า 22.62% พลังงานถ่านหิน 13.75% และพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 10.67% ทั้งหมดถือเป็นข้อยืนยันว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในภาคพลังงาน ทั้งจากการที่เป็นผู้ผลิตพลังงาน รวมถึงผู้บริโภค ทั้งในฐานะปัจเจก และการดำเนินธุรกิจ เมื่อต้องการเปลี่ยนให้ไทยไปสู่การผลิตและบริโภคพลังงานสะอาดที่เป็นธรรม จึงไม่สามารถขาดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนได้

| ความกลัวที่ต้องก้าวข้าม

นับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้กรอบพลังงานชาติมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 (พ.ศ. 2608 – 2613) เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเหวียน และสีเขียวตาม BCG Model

“นักวิชาการหลายคนบอกว่า มันยาวไปรึเปล่า” ข้อคำถามที่ ดร.วิจารย์ ยกขึ้นมานี้เกิดขึ้น เมื่อระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านพลังงานถูกยืดเวลาออกไป ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเกิดความพร้อมที่สุด

ในฐานะผู้ที่ติดตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฝากฝั่งเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ดร.วิจารย์ ยอมรับว่า การพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับพลังงานสะอาดยังคงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในธุรกิจ SME แต่ในขณะเดียวกัน ฟากองค์กรธุรกิจใหญ่อีกจำนวนไม่น้อย ต่างส่งสัญญานความพร้อม จากการที่สนับสนุนการพัฒนาและทำวิจัยในองค์กร ตลอดจนส่งเสริมทักษะแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง

หากภาครัฐต้องการลดช่องว่างในแต่ละองค์กรให้พัฒนาไปได้พร้อมกัน การเร่งสนับสนุนทั้งเงินทุนและข้อมูลการวิจัย ดูน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

แม้นานาชาติให้อิสระแต่ละประเทศพิจารณากรอบเวลา ของแผนเปลี่ยนแปลงพลังงานตามความสามารถของตนเอง แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วน “เร่งรัด” การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสุดความสามารถ

เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ที่กำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขึ้นชื่อ ก็อยู่ในกลุ่มที่จะงดผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) นี้

ดร.วิจารย์ สะท้อนว่า “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะภาคพลังงาน ว่าจะไม่สามารถเตรียมการได้ทันเวลา นับเป็นแรงกระแทกสำคัญสำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ก็ไม่อยากให้รัฐทิ้งเจตจำนงเดิมที่ไทยเคยตั้งเป้าจะลดก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 20 – 25 % ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตามข้อตกกลงปารีส

“อยากให้เก็บเลข 2050 ไว้ในใจ แม้จะประกาศ 2065 หรือ 2070 ไปแล้ว เพราะว่าอีกหน่อยถ้าเราทบทวนแล้วทำต่อได้ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องค้าขายกับต่างประเทศก็เป็นภาพดีกับไทย”

ที่ผ่านมา ดร.วิจารย์ มองว่า ไทยเริ่มต้นช้าไปแล้วหลายก้าว อย่างที่เกิดขึ้นกับนโยบายโซลาร์เซลล์ “เรามีขั้นตอนเยอะแยะ มีการกำหนดโควตา ไม่ใช่ใครทำได้แล้วจะสนับสนุน…ประเทศพัฒนาแล้วเขาพยายามแข่งกันลดกรอบ เพิ่มความเร็ว ของเรายืดออก อย่างน้อยที่สุดเรามาที่ 2060 เท่ากับจีนก็พอมีเพื่อนบ้าง”

| ขอความชัดเจนทิศทางพลังงานใหม่

สิ่งที่สำคัญไปกว่านโยบายรัฐที่ชัดเจน คือ แนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการวางแผนไปต่อให้สอดคล้อง เพราะพวกเขาถือเป็นผู้ที่พึ่งพิงแหล่งพลังงานรายใหญ่

แต่ดูเหมือนว่าความคาดหวังนี้ จะยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรในสายตาของดร.วิจารย์ จากที่มีโอกาสนั่งโต๊ะการสนทนาร่วมกับตัวแทนภาครัฐ และภาคเอกชน ยังคงไม่มีคำตอบถึงสัดส่วนพลังงานของไทยที่จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม

“เราต้องชัดเจนว่าเราจะตั้งอะไรมาทดแทนพลังงานหลัก (ฟอสซิล) เรามีศักยภาพที่จุดไหน จะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่ไหนยังไง ขณะเดียวกันส่วนที่มาเติมอย่างพลังงานชีวมวล มีอะไรที่จะมาเติมบ้าง เต็มที่เราจะได้พลังงานเท่าไหร่ ตัวเลขต้องชัดเจน”

ดร.วิจารย์ สะท้อนว่า ความน่าเสียดายอยู่ที่มักไม่พยายามใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นจุดแข็งที่มีอยู่ อย่างกรณีของพลังงานชีวมวล ที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยจัดการกับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง บ้างว่าการใช้พลังงานรูปแบบนี้มาทดแทนอาจไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต บางส่วนก็กังวลถึงต้นทุนที่อาจสูงมากเกินไป หรือการเข้าไปแย่งพื้นที่เพราะปลูกเพื่อการบริโภค

ข้อติดขัดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ดร.วิจารย์ พยายามชี้ให้เห็นว่ามีหนทางแก้ไข ด้วยการบูรณาการทุกองค์กรให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกัน เพื่อสุดท้ายจะได้ผลลัพธ์เป็นแผนสัดส่วนพลังงานที่เป็นรูปธรรม ต่อยอดให้กับเอกชนให้กำหนดทิศทางการผลิตล้อไปตามนั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น และคุ้มค่าที่รัฐจะลงทุน

แต่ก็คล้ายกับว่าการทำงานร่วมกันของหลายองค์กร โดยเฉพาะในหน่วยงานรัฐด้วยกันเองนี่แหละที่เป็นจุดอ่อนของเรา

“พื้นที่ไหนโซลาร์มีศักยภาพ ช่วงเปลี่ยนผ่านพื้นที่ไหนมีความพร้อมเรื่องพลังงานชีวมวล ที่ไหนปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง สัดส่วนของพืชพลังงานกับพืชอาหารเป็นยังไง ตอนนี้มาพูดเรื่องไม้โตเร็วอีกแล้ว คราวก่อนยังพูดถึงหญ้าเนเปียร์อยู่เลย”

ในท้ายที่สุด นอกจากเอกชนจะสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานเพื่อการผลิตแล้ว เกษตรกรเองก็สามารถสร้างเม็ดเงินจากการที่ราคาผลผลิตเคยตกต่ำ

อีกทิศทางหนึ่งที่ยังอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ คือ การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ที่เรียกว่า Waste-To-Energy ซึ่งหน่วยงานกลางพยายามผลักดันมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ติดขัดที่กฎระเบียบ และขาดการจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุน

เมื่อสัดส่วนพลังงานยังไม่ชัดเจนเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะยังเห็นการ “เหยียบสองขา” ของเอกชน ในการพึ่งพิงทั้งพลังงานฟอสซิล และพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน เพราะหากตัดสินใจกระโดดเข้าไปทางใดทางหนึ่ง ก็เกรงว่าหากรัฐกลับลำในภายหลัง ธุรกิจนั้น ๆ ของตนเองจะเจ็บหนัก

“อย่างกระทรวงพลังงานสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า มีหัวชาร์จทั่วเมือง แต่ไม่มีรถ เพราะราคารถยังแพง บอกให้ราชการใช้ก่อน ก็บอกไม่ได้มันแพงไป กลับไปกลับมาอย่างนี้ก็ไม่ได้เริ่มสักที”

ในขณะที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานอาจจะยังต้องรอความชัดเจน ดร.วิจารย์ มองว่า สิ่งที่สามารถดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมควบคู่ไปพร้อมกันได้ คือ การทำกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) อย่างที่กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสนับสนุนให้เอกชนมาลงทุนสร้างพื้นที่ป่า

เมื่อฝากฝั่งธุรกิจให้ความสำคัญกับการเดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สมดุลกับสังคมและสิ่งแวดล้อม นี่เป็นพันธกิจหลักที่องค์กรเครือข่าย หรือภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างที่ “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” พยายามทำอยู่

สำหรับสิ่งที่องค์กรคาดหวังว่าจะช่วยเป็นแนวทาง ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจได้นั้น ดร.วิจารย์ ระบุว่า ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสามารถร่วมกันเรียนรู้ผ่านการถอดบทเรียนองค์กรใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งในส่วนของเทคโนโลยี นวัตกรรม ไปจนถึงการบริหารจัดการแรงงาน ให้สอดคล้องกับการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบพลังงานในอนาคต

| ราคาที่ต้องจ่ายของความล่าช้า

“ธุรกิจที่ส่งออกถ้าพลังงานไม่เปลี่ยน อยู่ไม่ได้แล้ว (ผู้ซื้อ) เขาต้องการความชัดเจนว่าใช้พลังงานทดแทนรึเปล่า ถ้าผลิตเหมือนเดิมเขาก็ไม่ซื้อของเรา จะมีกำแพงภาษีที่เก็บเพิ่มเติม เราจะเหลืออะไรละทีนี้”

ดร.วิจารย์ ชี้ว่า นอกเหนือจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ถดถอย หากมีการดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงานล่าช้าเกินไปแล้ว ยังมีผลที่จะเห็นได้ในเวลาอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการโดยตรง นั่นคือ ปัญหาธุรกิจส่งออกที่อาจติดขัด

ทั้งหมดก็เป็นเหตุมาจากเป้าหมายร่วมกันของนานาชาติ ที่ต้องการให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มเกินกว่า 1.5 – 2.0 องศาเซลเซียล โดยจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกเลย ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) หลายคนอาจจะเคยได้ยินในชื่อ “Net Zero”

ยุโรปที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม จึงเกิดแผนทำงาน “European Green Deal”  ลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

อ่านมาถึงจุดนี้อาจสงสัยว่า แล้วจะส่งผลต่อธุรกิจการส่งออกของไทยได้อย่างไร

คำตอบสำคัญอยู่ที่การออกมาตรการ  Carbon Border Adjustment Mechanism ที่เรียกสั้น ๆ ว่า CBAM ที่จะกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะเริ่มในปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569)

สำหรับการเปลี่ยนระดับนโยบายประเทศ ที่ต้องผ่านขั้นตอนมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการไทยจะแสดงความกังวลต่อปัญหานี้

ด้านอุตสาหกกรรมอาหาร ดูจะเป็นภาคส่วนที่ส่งสัญญานอย่างชัดเจน ว่าพวกเขาพร้อมที่จะทุ่มทุนให้กับการปรับตัว ตามคำบอกเล่าของ ดร.วิจารย์ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าธุรกิจอาหารของไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกอยู่กว่า 30% โดยประมาณ แม้ว่าจะหดตัวไปบางส่วนนับแต่ประสบสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนสัดส่วนของพลังงาน เราคงอยู่ไม่รอด” ดร.วิจารย์ กล่าว


ท้ายที่สุดคงไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าในบทสรุปของละครเรื่องนี้ ภาคธุรกิจกลายเป็นตัวละครเอกที่รับบทตัวดีหรือตัวร้าย คงขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมจะวางตนเองให้มองจากฝากฝั่งใด

แต่ที่แน่ ๆ หากผู้ชมติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และร่วมแสดงความเห็น เพื่อการปรับปรุงให้การแก้ปมต่าง ๆ ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ละครเรื่องนี้ก็คงดำเนินไปอย่างน่าติดตาม โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีตอนจบตามที่ถูกกำกับไว้


SDG Insights ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 6 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 

ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 (7.2) และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 (7.a)
.
ซึ่งเกี่ยวพันกับการรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม #SDG13 โดยเฉพาะที่การหันมาใช้พลังงานสะอาด เป็นหนึ่งก้าวที่สะท้อนการตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (13.3)
.
โดยคำนึงถึง #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า โดยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ (8.1) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ (8.2) ส่งเสริมโอกาสงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (8.5)
.
โดยในการหันมาเลือกใช้พลังงานสะอาด ยังสัมพันธ์กับการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีตาม #SDG9
.
ทั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยองค์ประกอบสำคัญอย่าง #SDG16 สังคมสงบสุขเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน (16.3) สถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.6) และการมีกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7)

Author

Exit mobile version