Site icon SDG Move

สารก่อมะเร็ง PAHs มากกว่า 100 ชนิดถูกปล่อยสู่อากาศในทุกวัน แต่ส่วนมากยังไม่มีการกำกับดูแล – นับเป็นความเสี่ยงต่อโรค

การเผาไหม้ของสารอินทรีย์ อาทิ การเผาไหม้น้ำมันและถ่านหิน ไอเสียจากโรงงานและรถยนต์ หรือกระทั่งการทำอาหาร – การปิ้งย่าง ได้ปล่อยสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) หรือ “สารก่อมะเร็ง” มากกว่า 100 ชนิดของสารประกอบขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในทุกวัน เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม

การศึกษา Global Cancer Risk From Unregulated Polycyclic Aromatic Hydrocarbons เผยแพร่ใน GeoHealth โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology ระบุว่า การที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล ใช้วิธีการวัดค่าเบนโซ (เอ) ไพรีนในชุมชนว่ามีความเสี่ยงจะก่อโรคมะเร็งหรือไม่ เป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดีนัก เพราะเป็นหนึ่งสารประกอบในกลุ่ม PAHs ที่คิดเป็นความเสี่ยงเพียง 11% ของการก่อโรคมะเร็งทั่วโลกเท่านั้น ขณะที่อีก 89% ที่เหลือซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อโรคมากกว่า มาจากสารประกอบตัวอื่นในกลุ่ม PAHs ที่ยังไม่ได้มีการควบคุมโดยตรง และสารเคมีที่เป็นพิษที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาของ PAHs ในชั้นบรรยากาศ

หลังจากที่ทีมผู้วิจัยได้เปรียบเทียบความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งทั่วโลกที่มาจาก PAHs พบว่า มีข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการคำนวณความเสี่ยงจากเฉพาะการวัดระดับค่าเบนโซ (เอ) ไพรีนกับการคำนวณความเสี่ยงจากการวัดส่วนผสมของสารประกอบ PAHs ซึ่งมีหลากหลาย

วิธีนี้ทำให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งระหว่างสารประกอบ 1 ตัวกับส่วนผสมของหลายสารประกอบ และความเสี่ยงในแต่ละภูมิภาค/ประเทศ มีไม่เท่ากัน อาทิ หากวัดเฉพาะระดับค่าเบนโซ (เอ) ไพรีน ฮ่องกงมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าอินเดียใต้ถึง 3.5 เท่า แต่ถ้าหากวัดส่วนผสมของสารประกอบ PAHs ตัวอื่น ๆ ด้วย จะพบว่าฮ่องกงมีความเสี่ยงมากกว่าอินเดียใต้ถึง 12 เท่า จุดนี้เองที่ทีมวิจัยมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล จะต้องขยายการรับรู้รวมถึงการกำกับดูแลที่ครอบคลุมสารประกอบอื่น ๆ ของ PAHs ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะนำไปสู่การติดตามการปล่อยสารประกอบกลุ่มนี้ในแต่ละพื้นที่ และพิจารณาแนวทางการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ดีมากขึ้น

เพราะนอกจากที่ PAHs มีความเสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็งแล้ว ยังสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ภายใต้ศูนย์วิจัย Superfund Research Center มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology ได้รับการสนับสนุนจาก National Institute of Environmental Health Sciences Superfund Basic Research Program และ National Institutes of Health โดยหวังว่าข้อค้นพบจะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเสียใหม่ และนำไปสู่การกำกับดูแลสารเคมีที่ปัจจุบันยังไม่มีการควบคุม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดและลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

แหล่งที่มา:
Study: Global cancer risk from burning organic matter comes from unregulated chemicals (MIT)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version