พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม
ฟัง – ความยั่งยืนใน Podcasts วันนี้ พามาเยือนดินแดนด้านมืดของโลกที่มีการล่าและลักลอบค้าขายสัตว์ – พืชพันธุ์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ถ่ายทอดเรื่องราวจากทั่วมุมโลกโดยผู้เชี่ยวชาญ อาทิ จากโครงการระดับโลกด้านอาชญากรรมสัตว์ป่าและป่าไม้ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC), อดีตเลขาธิการด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และประธาน Global Initiative to End Wildlife Crime, มูลนิธิสัตว์ป่าแอฟริกัน (African Wildlife Foundation) ผ่านซีรีส์ที่ดำเนินมาถึง 10 ตอนแล้ว กับ “Wild Crimes Podcast” จัดทำโดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
อาชญากรรมต่อสัตว์ป่า (Wildlife crime) เป็นหนึ่งในธุรกิจผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ในทุกวันจะมีสัตว์ – พืชพันธุ์ป่าจำนวนมากถูกล่า แพ็กใส่บรรจุภัณฑ์ จำหน่ายออกไปในประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ เสมือนเป็นเพียงอีกประเภทสินค้าหนึ่งสำหรับการค้าขายเพื่อค้ากำไรเท่านั้น ทว่าสัตว์เป็นล้านล้านตัวกำลังตายจากเงื้อมมือของกลุ่มองค์กรอาชญากรรม โดยการค้าสัตว์ป่าเพื่อผลประโยชน์เช่นนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในอนาคตเพราะเส้นแบ่งระหว่างสัตว์ป่าและมนุษย์ขาดสะบั้นลง มิหนำซ้ำ ยังเป็นบ่อนทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วย
Natural History Museum ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้จัดทำซีรีส์พอสแคสต์ อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวด้านมืดที่สัตว์ป่าเผชิญและคำบอกเล่าของผู้ทำงานเพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมดังกล่าว โดยเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตีแผ่การลักลอบค้าสัตว์เลื้อยคลานในแทนซาเนีย การลักลอบค้าลิ่นที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแอฟริกาและเอเชีย การลักลอบค้าปลาไหลชนิดใกล้สูญพันธุ์ในยุโรป ไปจนกระทั่งการค้าซากฟอสซิลของไดโนเสาร์แบบที่มีแปะป้ายบอกราคา
เข้าถึงช่องทางพอสแคสต์ได้ที่ Spotify | Apple | Google
แหล่งที่มา:
Wild Crimes: A Natural History Museum podcast (Natural History Museum UK)