85% ของประชากรโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณ 4G ให้ได้ใช้ แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรเท่านั้นที่สามารถ “ออนไลน์” ได้ ขณะที่ 2 ใน 3 ของเด็กนักเรียนไม่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้านแม้จะอยู่ในยุคที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ ตัวอย่างนี้ชี้ว่า อุปสรรคไม่ได้มีเพียง “ความถ้วนหน้า” แต่เป็นเรื่องของ “อินเตอร์เน็ตที่ราคาไม่แพง” (affordability) ที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้
EDISON Alliance โดยสภาเศรษฐกิจโลกกับหุ้นส่วนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงผลักดันโครงการ 1 Billion Lives Challenge สนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลก 1 พันล้านคน ให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัล อย่างน้อยใน 3 สาขาแรก ได้แก่ สาธารณสุข การเงิน และการศึกษา
เพราะ “ความเท่าเทียมทางดิจิทัล” (Digital Inclusion) สำคัญต่อการที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง EDISON Alliance มองว่าเป็นพื้นฐานของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
จุดเน้นสำคัญอีกประการของความเท่าเทียมทางดิจิทัล คือการสำรวจว่า “ราคา” เป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์/ดิจิทัลหรือไม่ เพราะแม้จะมีประชากรส่วนมากอยู่ในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมทางโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์แล้ว แต่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เพราะไม่มีบริการที่ราคาถูก/ซื้อหาได้ อย่างเช่นการที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลก 650 ล้านคน กลับมีค่าใช้บรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile broadband) แพงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วถึง 18 เท่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัล/ออนไลน์ที่หยั่งรากลึกระหว่างประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและประเทศที่พัฒนามากที่สุด อันเป็นผลมาจาก ราคาที่สามารถซื้อหาได้
ภาพเปรียบเทียบการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา จาก World Economic Forum, Statista, Gallup
เมื่อผนวกรวมกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำดิจิทัลเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องอุดช่องโหว่ของการแบ่งแยกทางดิจิทัล (digital-divide) ระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในทุกที่และทุกเวลา โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังในโลกยุคดิจิทัล
1 Billion Lives Challenge จึงสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มอุตสาหกรรม/องค์กรต่าง ๆ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนสนับสนุนการพัฒนา โดยเร่งเครื่องการลงทุนทางการเงินเพื่อให้บริการดิจิทัลแก่ประชากรที่ยังไม่ได้รับบริการอินเตอร์เน็ตหรือยังได้รับบริการน้อยเกินควร ทั้งนี้ ตลอดทั้งกระบวนการก็เพื่อเป็นภาพสะท้อนความมุ่งมั่นที่มีต่อความเท่าเทียมทางดิจิทัล พร้อมสาธิตว่าเพียงระดมความช่วยเหลือและการลงทุนแล้ว ความเท่าเทียมทางดิจิทัลเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สามารถบรรลุได้ไม่ไกลเกินฝันนัก
ขณะเดียวกัน ภาคส่วน/องค์กรที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วน ก็จะได้ผูกมิตรกับผู้ที่มีวิสัยทัศน์การรับผิดชอบต่อสังคมที่คล้ายคลึงกัน และสามารถใช้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนแนวทาง แนวปฏิบัติ และองค์ความรู้ข้ามสาขาด้วย
ปัจจุบัน ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรส่วนที่เข้ามาร่วม มีอาทิ ประเทศอินโดนีเซีย, ประเทศบังคลาเทศ, Mastercard, Western Union, Women in Tech, University of Cape Town South Africa
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– โครงสร้างพื้นฐานและสายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างเสมอภาค
– ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นอย่างไร? เมื่อครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ และไม่มีกรอบ “global data governance”
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี
-(9.c) การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เนตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2563
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
-(10.3) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการกระทำที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา:
Take the 1 Billion Lives Challenge to close the digital divide (World Economic Forum)