ในเอเชียและแปซิฟิก การเติบโตของผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) ซึ่งวัดจากผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนที่มีงานทำ และผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงที่ได้ทำงาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความยากจนของภูมิภาคในห้วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้
โดยที่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นการกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน เพิ่มค่าจ้าง พัฒนาคุณภาพชีวิต กระตุ้นการทำกำไรของธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทว่าโควิด-19 ทำให้เทรนด์การเติบโตนี้เปลี่ยนไปอย่างไม่ได้สัดส่วนระหว่างประเทศในภูมิภาคและภาคส่วนเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและสภาวะที่อุปทานแรงงานลอยตัว (labour market slack) เป็นการย้ำว่า การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาโดยที่มีคนเป็นศูนย์กลาง จะต้องหันมาเน้น การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ (full and productive employment) โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากที่สุด
“Labour productivity trends in Asia and the Pacific highlight uneven COVID-19 impacts” โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เขียนถึงสถานการณ์ดังกล่าวพร้อมนำเสนอบทวิเคราะห์เทียบข้อมูลด้านผลิตภาพแรงงานของประเทศในเอเชียแปซิฟิกในปี 2563 และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่วัดจากผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนที่มีงานทำ (labour productivity per employed person) และผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงที่ได้ทำงาน (labour productivity per hour worked) รวมถึงชั่วโมงการทำงานในภาคส่วนที่พักอาศัยและการให้บริการอาหาร ภาคการขนส่งและคลังเก็บรักษาสินค้า ภาคการผลิต ภาคการค้าส่งและค้าปลีก
ความแตกต่างรายประเทศ/ภาคส่วน
เข้าถึงภาพและข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ Labour productivity trends in Asia and the Pacific highlight uneven COVID-19 impacts (ILO)
อ่านเพิ่มเติม COVID-19, labour market slack and what it means for recovery (ILO)
สำหรับปี 2563 พบว่า ผลิตภาพแรงงานของประเทศกำลังพัฒนาและที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่หดตัวลง ไทยและมองโกเลียเป็นตัวอย่างที่มีข้อมูลชี้ว่ามีผลิตภาพลดลงราว 6 – 7% และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงมีจำนวนมากกว่าการจ้างงานหน่วยสุดท้าย(marginal employment) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในกรณีของญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ พบว่า มีผลผลิตต่อแรงงาน (output per worker) ลดลง 3 – 5%
ส่วนแนวโน้มผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงที่ได้ทำงานนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง อย่างไรก็ดี จะต้องวิเคราะห์ผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงที่ได้ทำงานในกรณีที่มีเพิ่มขึ้นอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังคงเป็นข้อมูลที่เป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ตลาดแรงงานที่ย่ำแย่ เพราะชั่วโมงการทำงานที่สูญเสียไปหรือมีลดน้อยลง มีมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่หดตัว นอกจากนี้ ผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วนระหว่างกิจการขนาดเล็กและกิจการขนาดใหญ่ กล่าวคือ กิจการขนาดเล็กแทบจะไม่สามารถต้านทานผลกระทบได้ มีผลิตภาพที่น้อยกว่า ทั้งยังสูญเสียชั่วโมงการทำงานและการจ้างงานมากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ ทำให้ผลิตภาพที่มีเพิ่มขึ้นนั้น กระจุกอยู่กับกิจการขนาดใหญ่
นอกจากผลิตภาพแรงงานจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ/เศรษฐกิจแล้ว ยังแตกต่างกันในแต่ภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะภาคส่วนอย่างการให้บริการด้านการขนส่ง การท่องเที่ยว และการโรงแรม ถือเป็นตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการตอบสนองต่อโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ การจำกัดการเดินทาง การปิดพรมแดนหรือระงับการเดินทางข้ามประเทศ
ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดก็คือประเทศไทย ที่สภาพเศรษฐกิจพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ภาคที่พักอาศัยและการให้บริการอาหารได้สูญเสียผลผลิตต่อชั่วโมงที่ได้ทำงาน (output per hour worked) 32.2% ในปี 2563 โดยหลัก ๆ เป็นผลมาจากมูลค่าการผลิต (gross output) ของภาคส่วนนี้ที่ลดน้อยลงมาก
ส่วนภาคการผลิต ภาคการค้าส่งและค้าปลีก ถือเป็นสองส่วนสำคัญที่คิดเป็นการจ้างงานทั้งหมดในเอเชียและแปซิฟิกในปี 2562 ก่อนโควิด-19 16% และ 15% ตามลำดับ ทว่าสถานการณ์การเติบโตของผลิตภาพการผลิต (manufacturing productivity) ปัจจุบันในกรณีของไทย เป็นผลมาจากผลผลิตจากการผลิต (manufacturing output) ที่หดตัว ซึ่งน้อยกว่าชั่วโมงการทำงานของภาคการผลิตที่สูญเสียไป นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตของภาคค้าส่งและค้าปลีกของไทยยังหดตัวลงด้วย เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
-(1.1) ขจัดความยากจนทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน วัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ* ต่อวัน ภายในปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
Labour productivity trends in Asia and the Pacific highlight uneven COVID-19 impacts (ILO)
Last Updated on ตุลาคม 28, 2021