องค์กรการกุศลชั้นนำของโลกอย่างน้อย 15 แห่ง ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นและผู้นำของกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) สร้างความเปลี่ยนเปลงที่สำคัญเพื่อพัฒนาการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ (pandemic preparedness) และสร้างหลักประกันว่าจะมีการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19อย่างเสมอภาคในระดับโลก
ใจความสำคัญ 3 ประการในจดหมายได้แก่
- การบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้อย่างน้อย 40% ของประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้และ 70% ภายในเดือนกันยายนปี 2022
- ภายในปี 2021 รัฐบาลประเทศรายได้สูงจะต้องจัดสรรเงินอย่างน้อย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางสามารถใช้ ‘สิทธิพิเศษถอนเงิน‘ (Special Drawing Rights: SDRs) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซ้ำได้ และ
- เติมเต็มกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association fund) ของธนาคารโลกเป็นเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการรับมือโรคระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
จดหมายยังได้ระบุว่าประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกเหนือ (Global North) มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศของตนและยังสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อยับยั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงฉับพลันทางสังคม ในขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนในประเทศยากจนในซีกโลกใต้ (Global South) ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและต้องเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง ผลกระทบของโควิด-19 ที่แบ่งแยกโลกด้วยความไม่เสมอภาคเช่นนี้จะเพิ่มความเปราะบางให้กับความสามารถในการรับมือของมนุษยชาติสำหรับการระบาดใหญ่ครั้งหน้าหรือวิกฤตอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
องค์กรการกุศลที่ลงนาม ณ ขณะนี้ ได้แก่ มูลนิธิ Aliko Dangote มูลนิธิ Bill & Melinda Gates มูลนิธิ Chaudhary จากประเทศเนปาล มูลนิธิกองทุนเพื่อการลงทุนเด็ก (Children’s Investment Fund) มูลนิธิ Conrad N. Hilton มูลนิธิ Ford มูลนิธิ Fundación Saldarriaga Concha มูลนิธิ MasterCard มูลนิธิ Mo Ibrahim มูลนิธิ Open Society องค์กรการกุศล OppGen และมูลนิธิ The Rockefeller
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG1 ขจัดความยากจน - (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม - (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งต่างๆ รวมถึง การยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและวิธีการที่เป็นไปได้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี - (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ - (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยา สำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยา และวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุขซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลัง พัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติ ในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า - (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศ และระดับโลก #SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน - (17.2) ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการ (ให้เป็นผล) ตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการโดยเต็มที่ โดยรวมถึงพันธกรณีที่ให้ไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.7 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.15 ถึง 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยสนับสนุนให้ผู้ให้ ODA พิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ถึงอย่างน้อยร้อยละ 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด - (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
ที่มา : World’s 15 top philanthropies urge WB, IMF to better pandemic preparedness (livemint.com)
Last Updated on ตุลาคม 28, 2021