Site icon SDG Move

3 ภารกิจให้บริการสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมที่ควรได้รับเงินทุนเป็นอันดับแรก ตามคำแนะนำของธนาคารโลก

สถานการณ์โรคระบาดนอกจากจะทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ซ้ำร้ายยังเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่เปราะบาง อาทิ คนว่างงาน เยาวชน ผู้สูงอายุ และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ปัญหาสุขภาพจิตที่ก่อขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพราะความหวาดกลัว การสูญเสียงานและเงิน หรือการถูกเลือกปฏิบัติ ล้วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ

ธนาคารโลก ซึ่งได้ร่วมสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 100 ประเทศ แนะนำว่าจะต้องมีการ “คิดใหม่ ทำใหม่” จัดสรรเงินทุนให้กับภารกิจด้านสุขภาพ เพื่อขยายการให้บริการด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับอย่างครอบคลุมและเสมอภาค โดยลงทุนกับอันดับความสำคัญ 3 ข้อแรก ดังนี้

01 – ให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมสุขภาพจิต

เพราะในบางประเทศ ปัญหาสุขภาพจิตยังไม่ได้รับการปฏิบัติ/ยอมรับเทียบเท่ากับปัญหาสุขภาพกาย นั่นส่งผลให้หลักประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมถึงปัญหาสุขภาพจิตหรือครอบคลุมอย่างจำกัด การมีกฎระเบียบและ/หรือมาตรการทางกฎหมายจะช่วยให้สามารถไขปมนี้ได้ โดยสามารถเริ่มต้นพิจารณาจากหัวข้อเหล่านี้

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
รายงานของ WHO ระบุว่า แม้ประเด็นสุขภาพจิตได้รับความสนใจมากขึ้น แต่มีการใช้เงินลงทุนเฉลี่ยแค่ 2% จากรายจ่ายด้านสุขภาพของรัฐ
รัฐบาลออสเตรเลียทุ่มงบประมาณสูงสุด เพื่อผลักดันบริการสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย
รัฐบาลฝรั่งเศสออกมาตรการบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตใหม่ เสนอให้ทุกคนสามารถเข้ารับการบำบัดทางจิตได้ฟรี

02 – บูรณาการปัญหาสุขภาพจิตเข้ากับการให้บริการในระดับชุมชน

เพราะโมเดลการให้บริการที่กระจุกอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น มักจะมองปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างแยกส่วนกัน ธนาคารโลกมองว่าการพัฒนาให้มีการให้บริการในระดับชุมชนที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้จะเป็นทางออก แต่ต้องทำให้ช่องทางการส่งต่อเคสแข็งแรง (referral pathways) ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีการศึกษาและการอบรม ต้องมีทีมประจำชุมชน/ท้องถิ่น/เทศบาล อาทิ ซึ่งประกอบไปด้วยจิตแพทย์และนักจิตวิทยา มีหน่วยเคลื่อนที่คลินิกที่สามารถไปให้บริการได้ถึงบ้าน และมีการให้บริการที่ครอบคลุมถึงอาการเสพติดสารเสพติด และครอบคลุมช่วงอายุผู้ต้องการรับบริการ

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
‘Live4Life’ โมเดลระดับชุมชนสำหรับเยาวชนในออสเตรเลียที่จะช่วยไขปัญหาสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตาย

03 – นำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยขยายการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น

เทรนด์ในปีนี้หนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยเชื่อมต่อการให้บริการในหลายมิติความต้องการ ซึ่งการให้บริการรักษา/บำบัดโรคก็เป็นหนึ่งในสาขาที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมถึงการให้บริการรักษา/บำบัดปัญหาสุขภาพจิตด้วย เพื่อช่วยลดอุปสรรคด้านการเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความรู้สึกมีมลทินเมื่อต้องขอรับบริการด้านสุขภาพจิต

โดยการให้บริการด้านนี้ มีทั้งรูปแบบของเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน แชทบอทโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือกระทั่งวีดีโอเกมที่พัฒนามาเพื่อให้เหมาะสมกับคนไข้เด็กเล็ก โดยออกแบบมาให้สามารถช่วยตรวจโรคเบื้องต้น วินิจฉัย ติดตาม และรักษาโรคให้กับคนไข้ได้จากระยะไกล ไปจนถึงการแนะนำการดูแลตัวเอง และการให้บริการอบรมกับบุคลากรทางการแพทย์

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | Telemedicine – การลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ทิ้งคนไข้ไว้ข้างหลัง
เทรนด์ ‘Femtech’ กำลังมาแรง เมื่อการใช้เทคโนโลยีรักษาโรคมี ‘สุขภาพของผู้หญิง’ เป็นศูนย์กลาง
TikTok ออกฟีเจอร์ใหม่ในแอปที่ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตายจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
‘Plume’ ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านสุขภาพให้ชุมชนคนข้ามเพศเข้าถึงบริการสุขภาพด้วยความเข้าใจในอัตลักษณ์และความรู้สึกของคนข้ามเพศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) ส่งเสริมการใช้งบประมาณด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการจัดให้มีหลักประกันด้านสุขภาพเพื่อคนทำงานในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
3 Priorities to Scale Up Mental Health Services Amid COVID-19 (World Bank)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version