เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ได้รับรองกลยุทธ์ ‘Olympism 365’ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างบทบาทของกีฬาในฐานะปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสําเร็จ (an enabler) ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
Olympism 365 จะเป็นกลไกที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินงานตาม ข้อเสนอแนะที่ 10 จากทั้งหมด 15 ข้อเสนอแนะ ภายใต้วาระโอลิมปิก 2020+5 (Olympic Agenda 2020+5): “Strengthen the role of sport as an important enabler for the UN Sustainable Development Goals – เสริมสร้างบทบาทของกีฬาในฐานะปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จที่สำคัญสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ” และเชื่อมโยงคนในสังคมด้วยกีฬาใน 365 วันของปี แผนงาน Olympism 365 มีความสอดคล้องโดยตรงกับ 17 เป้าหมายย่อย (targets) ใน 10 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (goals) ได้แก่
- SDG3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
- SDG4.4 เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ
- SDG4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม
- SDG5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
- SDG5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่น
- SDG5.5 สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
- SDG8.3 ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ผ่านการเข้าถึงบริการทางการเงิน
- SDG8.6 ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ที่ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ลงอย่างมาก
- SDG10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
- SDG11.7 จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้าโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้พิการ
- SDG12.5 ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่
- SDG13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
- SDG16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
- SDG16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
- SDG17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย
- SDG17.14 สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่เอื้อประโยชน์แก่คนจน (pro-poor) และคานึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อส่งเสริมให้มีการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
- SDG17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
แผนงาน Olympism 365 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสี่ด้านที่เชื่อมโยงถึงกัน ได้แก่
- เพิ่มการเข้าการเล่นถึงกีฬา โดยเฉพาะกับชุมชนที่ด้อยโอกาส
- สร้างชุมชนกีฬาที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเท่าเทียมกัน
- ใช้ประโยชน์จากกีฬาอย่างเต็มที่และสร้างโอกาสใหม่ ๆ เช่น การจ้างงาน การสร้างเครือข่าย
- เชื่อมต่อกลุ่มคนและองค์กรที่มีความหลากหลายเข้าด้วยกัน
ในช่วงเวลาโรคระบาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดิม กีฬามีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงได้ และยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เมื่อทุกคนมารวมตัวกันเล่นกีฬา สร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ในทุกมิติของคนในสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ และการเลือกปฏิบัติ