การประเมินทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกเพื่อศึกษาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาและที่ดูดซับไว้โดยพื้นที่ป่าของแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) พบว่า พื้นที่ป่าทั้งหมดนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่ามรดกโลก 10 แห่ง กลับปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่าปริมาณที่ดูดซับได้ เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์และสถานการณ์การเปลี่ยนแแปลงสภาพภูมิอากาศที่รบกวนความสามารถของป่า
รายงาน ‘World Heritage forests: Carbon sinks under pressure‘ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลที่ได้ระดับพื้นที่เพื่อประมาณปริมาณคาร์บอนรวม (gross carbon) และปริมาณคาร์บอนสุทธิ (net carbon) ที่พื้นที่ป่าของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ (natural world heritage) และแหล่งมรดกโลกแบบผสมผสาน (mixed world heritage) ทั้งหมด 257 แห่งที่ดูดซับและปล่อยออกมาระหว่างปี 2001-2020 พบว่า ความสามารถในการเป็นอ่างกักเก็บคาร์บอนของป่า (carbon sink) ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้ปริมาณ 190 ล้านตันโดยประมาณต่อปี เทียบได้กับประมาณครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในสหราชอาณาจักรในหนึ่งปี ทั้งนี้ เมื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวของป่ามรดกโลกจะได้มากถึง 13,000 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าคาร์บอนในแหล่งน้ำมันสำรองของคูเวต
แม้ว่าพื้นที่ป่ามรดกโลกจะได้รับการคุ้มครองในระดับชาติ ยังต้องเผชิญแรงกดดันและการรบกวนของกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร และไฟป่าที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น และกินพื้นที่มากขึ้น ที่เชื่อมโยงกับฤดูแล้งที่รุนแรงเพราะผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของป่าไม้ลดลง จึงพบว่าพื้นที่ป่าของแหล่งมรดกโลก 10 แห่ง มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาสูงกว่าปริมาณที่กักเก็บได้
รายงานชิ้นนี้ให้รายละเอียดที่เป็นปัจจุบันที่สุดของบทบาทป่ามรดกโลกที่ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการเพื่อปกป้องพื้นที่ป่ามรดกโลกและภูมิทัศน์โดยรอบอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนสามารถเป็นโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพสำหรับการแก้ปัญหาและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
ป่ามรดกโลกที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนมากกว่าที่ดูดซับ 10 แห่ง ได้แก่
- มรดกป่าฝนเขตร้อนของเกาะสุมาตรา (Tropical Rainforest Heritage of Sumatra) – อินโดนีเซีย
- เขตสงวนชีวมณฑล ริโอ พลาโต (Rio Platano Biosphere Reserve) – ฮอนดูรัส
- อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี (Yosemite National Park) – สหรัฐอเมริกา
- อุทยานสันติภาพนานาชาติวอเตอร์ต้น กลาเซียร์ (Waterton-Glacier International Peace Park) – แคนาดาและสหรัฐอเมริกา
- เทือกเขาบาร์เบอร์ตัน มาควอนจา (Barberton Makhonjwa Mountains) – แอฟริกาใต้
- อุทยานคินาบาลู (Kinabalu Park) – มาเลเซีย
- แอ่งน้ำอุฟส์นูร์ (Uvs Nuur Basin) – รัสเซียและมองโกเลีย
- อุทยานแห่งชาติแกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon National Park) – สหรัฐอเมริกา
- เขตเกรทเตอร์ บลู เมาเทนส์ (Greater Blue Mountains Area) – ออสเตรเลีย
- อุทยานแห่งชาติมอร์น ทัวส์ ปิตงส์ (Morne Trois Pitons National Park) -โดมินิกัน
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน - (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ #SDG15 นิเวศบนบก - (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563 - (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพ ของระบบนิเวศเหล่านั้นเพื่อจะเพิ่มพูนขีด ความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573