นักวิจัยในอินโดนีเซียได้เพาะพันธุ์ยุงชนิดใหม่ที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในตัวเพื่อต่อสู้กับยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ซึ่งแบคทีเรียนี้จะสามารถยับยั้งการเติบโตและการแพร่เชื้อของไวรัสเดงกี่ (dengue) ในตัวยุงได้
การศึกษานี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2017 บนฐานของข้อมูลของโครงการยุงโลก (World Mosquito Program: WMP) ที่พบว่าใน 60% ของสายพันธุ์แมลงทั้งหมด ทั้งยุง แมลงวัน ผีเสื้อ และแมลงปอ มีเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘Wolbachia’ อยู่ในตัวแมลงตามธรรมชาติ แต่ไม่พบในยุงลายที่เป็นพาหะของไข้เลือดออก
นักวิจัยจากโครงการยุงโลก ที่ Monash University ประเทศออสเตรเลีย และ Gadjah Mada University ของประเทศอินโดนีเซีย จึงได้ดำเนินการเพาะพันธุ์ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia เพื่อให้ผสมพันธุ์กับยุงที่เป็นพาหนะนำโรคแล้วเกิดยุงรุ่นใหม่ที่มีเชื้อวอลบาเชียในตัว ที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์แม้ถูกกัด
ผลการทดลองขั้นต้นเมื่อปล่อยยุงที่มีเชื้อ Wolbachia ที่เพาะพันธุ์ในห้องแล็บออกสู่ “พื้นที่สีแดง” ในเมืองยอกยาการ์ตาของอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกสูง พบว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้มากถึง 77% และลดการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 86%
ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การติดเชื้อไข้เลือดออกทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันมีประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของโลกตกอยู่ใต้ความเสี่ยงของการติดเชื้อ โดยมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกที่ประมาณ 100-400 ล้านคนในทุกปี
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
ที่มา : Indonesian researchers breed ‘good’ mosquitoes to combat dengue (Reuters)
Last Updated on พฤศจิกายน 3, 2021