การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ “COP 26” ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า (31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2021) แน่นอนว่ามีคำศัพท์คีย์เวิร์ดสำคัญที่อาจจะยากบ้างง่ายบ้าง แต่หากไม่รู้เราจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง
และนี่คือ 13 คำศัพท์ที่ UN คัดมาให้เป็นคู่มือช่วยทำความเข้าใจองค์ประกอบของบทสนทนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างรวดเร็วและรวบรัด
| COP26
เป็น ‘ชื่อเล่น’ ของเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในทุกปี โดยมีรัฐสมาชิก 197 ประเทศ อันหมายรวมถึงมีประเทศชั้นนำ – ผู้นำโลกเข้าร่วมการประชุมด้วย ในแง่นี้ เวทีดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญของการแสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองและก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนในประเด็นว่าด้วยการต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะร้ายแรงขึ้นไปกว่าเดิม
สำหรับปี 2564 นี้ การประชุม COP จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน และนับเป็นครั้งที่ 26 แล้ว โดยเลื่อนมาจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค
โดยการประชุมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2538 ภายหลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development – UNCED) หรือ “การประชุม Earth Summit” ณ เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– COP26 – “โอกาสสุดท้าย” รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 °C และ 4 หัวข้อหลักที่จะอภิปรายในการประชุม COP26
– SDG Recommends | 5 ช่องยูทูบเติมความรู้ – ติดตาม COP26 ให้เข้าใจมากขึ้น
– SDG Updates | บทวิเคราะห์ความท้าทายและนโยบาย เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมภายใต้รัฐบาล โจ ไบเดน (EP.8)
– SDG Updates | สำรวจความท้าทายและนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของจีน (EP.9)
| SDGs
แน่นอนว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals – SDGs) หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” (2030 Agenda for Sustainable Development) เพราะถือเป็น 1 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยประเด็นดังกล่าวตรงกับ เป้าหมายที่ 13 การต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ SDGs เปรียบเสมือนกับแผนที่นำทาง/พิมพ์เขียวระดับโลก วางเป็นกรอบการพัฒนาที่นานาประเทศสามารถรับไปดำเนินการ – ถ่ายระดับสู่การปฏิบัติในระดับประเทศได้ โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่มิติด้านผู้คนและสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) และสันติภาพ (Peace) นั่นหมายความว่า เป้าหมายที่ 13 นี้ ย่อมสัมพันธ์และเกี่ยวพันกับเป้าหมายด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ในฐานะตัวเร่งปฏิกิริยาก็เป็นผลกระทบที่ส่งต่อถึงกัน เป็นต้น ทำให้การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่เชิงนโยบาย งบประมาณ สู่การลงมือทำ มีผลต่อเป้าหมายการพัฒนาเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย
● ติดตามบทความ/ข่าวเกี่ยวกับ #SDG13 ได้ ที่นี่
| NDC
คำนี้ย่อมาจาก “Nationally Determined Contributions” หรือแปลเป็นไทยว่า “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” หมายถึง การที่รัฐแต่ละรัฐที่ลงนามรับข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558 จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ได้อย่างไร หรือ การกำหนดแผนงาน – การดำเนินการของรัฐแต่ละรัฐ ที่แสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมกับกระแสของการต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงดังกล่าว โดยที่จะต้องมีการทบทวน NDC ของตนในแต่ละปี เพื่อรักษาระดับการมีส่วนร่วมและระดับของความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำจริงให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โดยที่จะต้องจัดทำรายงานส่งมอบให้เลขาธิการ UNFCCC ทุก ๆ 5 ปี
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 43 – Nationally Determined Contributions (NDCs) – การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด
| Net Zero
หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) หรือให้เข้าใกล้ศูนย์ให้ได้มากที่สุด หรือกระทั่งไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ซึ่งเวลาเราพูดถึง Net Zero นั้น จะมีเป้าหมายที่ติดท้ายมาด้วยคือ ประเทศที่แสดงความมุ่งมั่น – เข้าร่วมขบวน จะพยายามทำให้ได้ภายในปี 2593 (2050)
โดยวิธีการหรือกระบวนการที่จะช่วยได้ มีตัวอย่างจากทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน/พลังงานสะอาด การสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว การส่งเสริมศักยภาพของแหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติ (อาทิ ป่าไม้ ทะเลและมหาสมุทร) ที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยปลายทางของความพยายามปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ว่ามานี้ คือการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ที่ต้องการให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5°C จากระดับก่อนอุตสาหกรรม
| 1.5°C
จำตัวเลขนี้ไว้ให้ดี เพราะเป็นตัวเลขที่จะปรากฎในทุกแหล่งข่าวในการติดตามประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นเป้าหมายที่ได้รับการยืนยันจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า เราจะต้องพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5°C กว่าช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือช่วงกลางของศตวรรษที่ 18 ทั้งนี้ ปัจจุบัน กิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแล้วราว 1.06°C – 1.26°C และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนหากไม่มีการปรับวิธีการ/กระบวนการอย่างที่ดำเนินอยู่
อย่างไรก็ดี ตัวเลข 1.5°C เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นปลายทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าหากคำมั่นสัญญาสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้จริงแล้วปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของมนุษย์เองจะหมดไป
| IPCC
IPCC คือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ร่มขององค์การสหประชาชาติและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ที่ติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2531 (1988)
เป้าหมายของ IPCC มีเพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กับรัฐบาลในทุกระดับนำไปใช้ประกอบและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง จากที่ผ่านมาได้มีการจัดทำเป็นรายงาน ซึ่งในเวทีระหว่างประเทศเองได้หยิบเอาไปใช้อ้างถึง และกระทั่งนำไปสู่การเจรจาบนโต๊ะที่มีนานาประเทศชั้นนำ – ผู้นำโลกร่วมด้วย อย่างล่าสุดนี้ ก็ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กับคีย์เวิร์ดเด่น ๆ อย่างการประกาศถึง “รหัสฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด
| SIDs
ในบรรดาตัวแสดงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องมีปรากฏถึง “ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก” หรือ Small Island Developing States (SIDs) 58 ประเทศที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศสุดขั้ว (weather extremes) ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ความเป็นกรดในทะเล พายุ ไซโคลน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง
หรือพูดในทางกลับกัน หากถามว่ากลุ่มประเทศใดที่ตื่นตัว (เพราะจะได้รับผลกระทบแน่นอนและซึ่งหน้า) และเป็นหนึ่งกลุ่มสำคัญที่เรียกร้องให้นานาประเทศเร่งลงมือจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็คือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กนี้เอง
| Climate finance
“การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หมายถึง เงินทุน/การระดมเงินทุน/การเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับภารกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ที่เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ได้
เงินที่ว่านี้ มาได้จากทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับข้ามชาติ มาได้จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือผ่านการระดมเงินทุนจากแหล่งที่หลากหลาย แน่นอนว่าการพูดถึงเรื่องเงินมีความสำคัญ แต่การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการ/กระบวนการจากที่ทำอยู่เดิม
ในกรณีของการประชุม COP ตั้งแต่ COP15 ในปี 2552 เป็นต้นมา ประเทศที่ร่ำรวยให้คำมั่นว่าจะเคลื่อนย้ายเงินทุน 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีให้กับประเทศที่มีความมั่งคั่งน้อยกว่า ภายในปี 2563 เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความเปราะบางเหล่านี้สามารถปรับตัวต่อและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้ ถึงกระนั้น จนมาถึง COP26 เป้าหมาย 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีที่ว่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จ และจะมีการหารือกันแน่นอนในการประชุมครั้งนี้
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีคือเงินที่จะต้องระดมไปยังประเทศเปราะบางสู้ Climate Change แต่ประเทศร่ำรวยจะทำสำเร็จหรือไม่?
– กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
| SBTi
เมื่อมองดูการดำเนินการของภาคเอกชนจะพบว่า มีโครงการ SBTi หรือ Science Based Target initiative ที่ให้บริษัทที่เข้าร่วม สามารถตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ (โดยอิงตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์) เพื่อให้บริษัทมีเครื่องมือในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกับที่ยังดำเนินการตามแผนธุรกิจโดยที่สนับสนุน “การเติบโตที่ยั่งยืน” ในเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
| Nature-based Solutions
“การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน” หรือ NbS เป็นการลงมือทำเพื่อปกป้อง บริหารจัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวิภาพ โดยไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะของมนุษย์ด้วย
ทำให้แนวคิดการแก้ปัญหา NbS อาทิ การฟื้นฟูป่าชายเลน การหาวิธีการทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหรือน้ำท่วมชายฝั่ง และการใช้แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นที่พูดถึงกันในความพยายามของโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส คือ เป็นการหาโซลูชันที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหาแนวทางสร้างสังคมที่มีภูมิต้านทานตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate resilient) โดยตระหนักถึงปัจจัยอย่างสิ่งแวดล้อม
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– โลกต้องใช้เงินลงทุนกับ ‘Nature-based Solutions’ มากกว่าเดิม 3 เท่าภายในปี 2573 เพื่อสุขภาวะที่ดีของเราและโลก
| G20
กลุ่ม G20 คือ กลุ่มที่รวมประเทศชั้นนำ 19 ประเทศ + 1 กลุ่ม (สหภาพยุโรป) ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีประชากรรวมกันถึง 2 ใน 3 ของโลก โดยถือว่าเป็นพื้นที่ของการหารือเพื่อจัดการกับปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาที่ยั่งยืน
นั่นหมายความว่า คำแถลง คำสัญญา และนโยบายใดที่กลุ่ม G20 เสนอว่าจะต้องดำเนินการนั้น จึงมีนัยสำคัญยิ่ง ในกรณีของการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ระบุว่า กลุ่มประเทศ G20 จะต้องแสดงบทบาทนำ นั่นยิ่งทำให้การขยับตัวของประเทศในกลุ่ม G20 ในการประชุม COP26 นั้น น่าจับตามอง
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– เลขาธิการ UN ย้ำ โลกจะต่อสู้กับ climate change ได้ เมื่อประเทศ G20 เห็นตรงกัน – แสดงบทบาทนำ
| AGN
หรือ African Group of Negotiators on Climate Change เป็นเครือข่ายความร่วมมือของรัฐสมาชิกแอฟริกา ที่เป็นตัวแทนแสดงถึงจุดยืนและการปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาคแอฟริกาในเวทีการหารือระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
AGN ก่อตั้งขึ้นเมื่อครั้ง COP1 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในปี 2538 (1995)
| GCAA
หากในระดับเวทีทางการมีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นตัวหลัก GCAA หรือ Global Climate Action Agenda ภายใต้ Lima-Paris Action Agenda (LPAA) 2014 เป็นอีกหนึ่งส่วนความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่เน้นการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาล หน่วยงานระดับท้องถิ่น ภาคธุรกิจ นักลงทุน และภาคประชาสังคม และสนับสนุนให้ตัวแสดงต่าง ๆ รับข้อตกลงปารีสไปดำเนินการ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การต่อสู้และจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แหล่งที่มา:
COP26: SDG or NDC? Our guide to the language you need to know (UN News)