นักข่าวทั่วโลก 62 คนถูกฆาตกรรมขณะปฏิบัติงานในปี 2563 และมีอีกจำนวนมากถูกคุกคาม-ข่มขู่ทางโลกออฟไลน์-ออนไลน์

| 2 พฤศจิกายน: วันสากลว่าด้วยการยุติการไม่ต้องรับโทษของอาชญากรรมต่อนักข่าว (International Day to End Impunity for Crimes against Journalists)

ตามข้อมูลจาก UNESCO ระหว่างปี 2549 – 2563 มีนักข่าวทั่วโลกถูกฆาตกรรมมากกว่า 1,200 คน และปีที่ผ่านมา มีนักข่าว 62 คนถูกฆาตกรรมขณะปฏิบัติหน้าที่ติดตาม – สืบสวนสถานการณ์การคอร์รัปชัน การค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ  9 ใน 10 ของการฆาตกรรมนี้ “ไม่เคยต้องได้รับโทษ” ขณะที่มีนักข่าวอีกหลายชีวิตที่ถูกละเมิดทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ ถูกข่มขู่ ลักพาตัว ทรมาน กักขัง และฆาตกรรมเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไปกี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะนักข่าวผู้หญิงที่ยิ่งมีความเสี่ยงและเปราะบาง

ทั้งที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในยามที่มีการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน/เท็จ ดังนั้น อาชญากรรมที่พุ่งเป้าไปที่นักข่าวจึงเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของระบบกฎหมายและความปลอดภัยในสังคม กระทบต่อหลักนิติธรรม ความโปร่งใส และสิทธิที่จะรู้ตาม #SDG16

“เนื่องในวันสากลว่าด้วยการยุติการไม่ต้องรับโทษของอาชญากรรมต่อนักข่าว เราเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนักข่าวที่ถูกฆาตกรรมเพียงเพราะปฏิบัติตามหน้าที่ เราขอรำลึกถึงผลงานของพวกเขา และเรียกร้องให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติยืนหยัดเพื่อนักข่าว สืบสวนและดำเนินคดีกับอาชญากรรมต่อนักข่าวโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่” – António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ

ในกรณีของนักข่าวผู้หญิงนัก จากรายงานการศึกษาล่าสุดของ UNESCO “The Chilling: Global trends in online violence against women journalists” มีที่ระบุว่า 73% ของนักข่าวผู้หญิงที่ได้ทำการสำรวจ เคยเผชิญกับการถูกคุกคาม ข่มขู่ ดูแคลน ผ่านทางโลกออนไลน์มาแล้ว โดยเป็นผลมาจากงานที่พวกเธอทำ

เพราะนักข่าวต่างก็เผชิญกับประสบการณ์ที่ฝากบาดแผลทางจิตใจและยังเป็นเหยื่อของความรุนแรง การรำลึกถึงในวันสากลนี้ กำเนิดขึ้นมาจากข้อมติ UNGA A/RES/68/163 ประณามการโจมตีและความรุนแรงที่มีต่อนักข่าวและผู้ที่ทำงานด้านสื่อสาร โดยเรียกร้องให้รัฐมีหน้าที่ต้องป้องกันความรุนแรงเหล่านี้ ต้องทำให้มีความรับผิดรับชอบ ระบบยุติธรรมในการสืบสวนอย่างเต็มที่ และดำเนินคดีเอาผิดกับทุกภัยคุกคามและความรุนแรงที่มีต่อนักข่าว

เรียกได้ว่า ปีนี้เป็นปีที่สปอตไลท์ฉายไปที่บทบาทความสำคัญของนักข่าว และการปกป้องให้ความคุ้มครองกับสิทธิและสวัสดิภาพของนักข่าว โดยรางวัล Nobel Peace Prize 2021 ที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ตกเป็นของ 2 นักข่าวจากฟิลิปปินส์และรัสเซียที่ทำงานอย่างทุ่มเทและเสี่ยงชีวิต เพื่อค้ำจุนให้สังคมคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะรู้และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | บทบาทของสื่อมวลชนต่อ SDGs ในวันที่ข่าวสารข้อเท็จจริงปะปนกับการบิดเบือน และเสรีภาพของสื่อถูกคุกคาม
SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs
SDG Vocab | 53 – fundamental freedoms – เสรีภาพขั้นพื้นฐาน
UNESCO และ EU จับมือทำโครงการ “Social Media for Peace” ในสามประเทศนำร่อง: บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อินโดนีเซีย และเคนยา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผลและรับผิดรับชอบ
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศและสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
– (16.6) สถาบันรับผิดรับชอบและมีความโปร่งใส
– (16.7) การมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนในการตัดสินใจ
– (16.10) ด้านสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
.
ทั้งนี้ โดยที่บทบาทของสื่อมวลชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของทุกเป้าหมาย SDGs

แหล่งที่มา:
62 journalists killed in 2020, just for doing their jobs: UNESCO (UNGeneva)
International Day to End Impunity for Crimes against Journalists 2 November (UN)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น