Florida Coral Rescue Center ใช้ห้องแลปหาสาเหตุโรคระบาด SCTLD ที่ทำลายแนวปะการังในฟลอริดาและแถบแคริบเบียน

โรคสูญเสียเนื้อเยื่อหินปะการัง (Stony Coral Tissue Loss Disease – SCTLD) เป็นโรคระบาดและเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้แนวปะการังนานาชนิดมากถึง 30 สปีชีส์ในฟลอริดาและแถบแคริบเบียนต้องเสียหาย

เพื่อที่จะปกป้องไม่ให้ปะการังเข้าสู่จุดใกล้สูญพันธุ์เพราะโรคภัยทำลายล้าง นักวิทยาศาสตร์ – นักชีววิทยาทางทะเลจาก Florida Coral Rescue Center ภายใต้เครือข่าย Florida Coral Rescue เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้พัฒนาห้องทดลอง สร้างปะการังและโขดหินใต้น้ำที่ประกอบด้วยกระแสน้ำและปลาท้องถิ่น และนำตัวอย่างปะการังที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแต่ยัง “แข็งแรงดี” เข้ามาร่วมในการศึกษาหาปะการังที่มีภูมิต้านทานต่อโรคและสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิธีการทางชีววิทยาหาสาเหตุของโรค หาวิธีการป้องกันโรค SCTLD และอนุรักษ์พันธุ์ด้วยการสร้างธนาคารพันธุกรรม (gene bank)

ภาพห้องแลปที่ใช้ทำการศึกษา จากชุดความรู้ Seascape: the state of our oceans โดย The Guardian
ติดตามอ่านและชมภาพต่อ ที่นี่

หินปะการังก่อตัวรวมกันกลายเป็นแนวปะการังที่ช่วยพยุงและค้ำจุนสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ 1 ใน 4 ของทั้งหมด ทว่าโรค SCTLD เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย เข้ามาทำลายทั้งการเพาะพันธุ์ของปะการังและเนื้อเยื่อของหินปะการัง เหลือเป็นเพียงหินปูนสีขาวที่มีรูปร่างคล้ายโครงกระดูก โดยสาหร่ายที่มีหน้าที่แต้มสีสันให้กับเนื้อเยื่อนั้นจะเป็นส่วนแรกที่ถูกคร่าชีวิตก่อนเมื่อเผผิญกับโรค หลังจากนั้น เซลล์ของปะการังจะแตกสลาย แยกส่วน และตายลง

โรค SCTLD เผยตัวครั้งแรกบริเวณเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ จากนั้นก็เริ่มแพร่ขยายออกไปเรื่อย ๆ จนถึงช่องแคบฟลอริดา (Strait of Florida) ใกล้กับ Key Largo และแถบแคริบเบียนจนเกือบถึงอเมริกาใต้

ภาพจาก Florida Department of Environmental Protection (กันยายน 2563)

ส่วนสาเหตุของโรคดังกล่าว แรกเริ่มมีการคาดการณ์ว่าเป็นเพราะแบคทีเรีย งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าเป็นเพราะไวรัส ขณะที่หลาย ๆ ฝ่ายเชื่อว่าสาเหตุของโรคน่ามาจากหลากหลายปัจจัย อาทิ อุณหภูมิของทะเลที่เพิ่มขึ้น มลพิษและไนโตรเจนที่สลายออกจากปุ๋ยที่ลงสู่ทะเล ไปจนถึงมีงานวิจัยที่ระบุว่าสาเหตุหลักเป็นเพราะบัลลาสต์ (ballast) และน้ำเสียจากเรือ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงซากปรักหักพังทางทะเลและมลพิษของสารอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
-(14.3) ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของความเป็นกรดในมหาสมุทร โดยรวมถึงผ่านทางการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
-(14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล

แหล่งที่มา:
Scientists recreate reefs in labs to stem the plague killing coral – in pictures (The guardian / The David & Lucile Packard Foundation)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น