อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก กระนั้น ตามรายงาน Deceased Estate:Illegal palm oil wiping out Indonesia’s national forest โดย Greenpeace ร่วมกับ The ThreeMap ระบุว่า 1 ใน 5 เฮกเตอร์ของพื้นที่การเพาะปลูก หรือคิดเป็นราว ๆ 3.12 ล้านเฮกเตอร์ (31,200 ตารางกิโลเมตร) เป็นการดำเนินการอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ที่ทางการกำหนดว่าเป็นเขตป่าไม้ซึ่งครอบคลุมบางส่วนของอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ และพื้นที่มรดกโลกตาม UNESCO โดยตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์
รายงานดังกล่าวระบุลึกไปถึงการชี้ตัวบริษัทซึ่งอยู่เบื้องหลังของการเพาะปลูกอย่างผิดกฎหมายนี้ พบว่ามีบริษัทอย่างน้อย 600 บริษัท (จากจำนวนบริษัท 2,056 ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม) ทำการเพาะปลูกอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่มากกว่า 0.1 ตารางกิโลเมตรของพื้นที่ป่าไม้ หมายความว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเกือบ 1 ใน 3 ของอินโดนีเซียถือว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งที่หลาย ๆ บริษัทต่างผ่านการรับรองด้าน “ความยั่งยืน” มาแล้ว ตามมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil – RSPO) พร้อมด้วยการการันตี Indonesian Sustainable Palm Oil (ISPO) โดยรัฐบาล
ผลจากการกระทำดังกล่าวไม่เพียงเป็นการละเมิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพาะปลูกที่ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาลต่อชั้นบรรยากาศ คิดเป็นราว 60% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีจากอุตสาหกรรมการบิน และกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับคลื่นความร้อน น้ำท่วมที่จะเกิดถี่ขึ้น เช่นเดียวกับไฟป่า ทั้งยังทำให้สัตว์ป่า อาทิ ลิงอุรังอุตังและเสือโคร่งสุมาตรา จะต้องพลัดถิ่นจากถิ่นที่อยู่อาศัยและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยข้อมูลจากปี 2562 ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การเพาะปลูกในพื้นที่ป่าไม้ของอินโดนีเซียเพื่อผลิตน้ำมันปาล์มนั้น ครอบคลุม 1,837 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง และ 1,488 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งสุมาตรา
Kiki Taufik หัวหน้าด้านการรณรงค์ป่าไม้ประจำ Greenpeace อินโดนีเซีย กล่าวว่า นัยยะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เต็มใจที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในที่ดินสาธารณะ หรือดำเนินตามคำมั่นที่ให้ไว้ต่อการลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ Arie Rompas เจ้าหน้าที่รณรงค์ป่าไม้ประจำ Greenpeace อินโดนีเซีย ได้เสริมว่า ปัญหาดังกล่าวจะยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากขึ้นด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงในวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก น้ำจืดบนบก และความหลากหลายทางชีวภาพ
-(15.1) หลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
-(15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ำลายป่า
-(15.5) ลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลก ภายในปี 2563
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
-(16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
-(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
แหล่งที่มา:
One in five hectares of palm oil in Indonesia is criminal, report shows (eco-business / mongabay)
Last Updated on พฤศจิกายน 12, 2021