รายงานจากธนาคารโลก ประเมินว่า หากไม่มีการดำเนินการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน อาจผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกถึง 216 ล้านคน ภายในปี 2050 ที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศเพื่อหลีกหนีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลจากรายงาน Groundswell 2.0 โดยธนาคารโลก จากการจำลองผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การขาดแคลนน้ำ และศักยภาพการผลิตพืชผลที่ลดลง ในหกภูมิภาค สรุปได้ว่า พื้นที่ที่มีแนวโน้ม (hotspot) เกิด ‘การโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศที่มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Internal Climate Migration)‘ อาจมีให้เห็นได้ภายในปี 2030 นี้ และจะขยายพื้นที่และมีความรุนแรงมากขึ้นภายในปี 2050
มีการประเมินตัวเลขผู้อพยพภายในปี 2050 พบว่า ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซะฮารา จะมีผู้อพยพภายในประเทศเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากถึง 86 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 49 ล้านคน ในเอเชียใต้ 40 ล้านคน ในแอฟริกาเหนือ 19 ล้านคน ในละตินอเมริกา 17 ล้านคน และในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง 5 ล้าน
รายงานระบุว่า การโยกย้ายถิ่นฐานนี้จะก่อให้เกิดความตึงเครียดทั้งในพื้นที่รับและส่งผู้อพยพ ผู้ที่เคยประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม อาจย้ายเข้าเมืองเพื่อหาโอกาสจ้างงานอื่น ทำให้พื้นที่ศูนย์กลางเมืองและเขตเมืองอาจต้องรองรับประชากรมากเกินศักยภาพที่มี
รายงานดังกล่าวได้เสนอคำแนะนำเชิงนโยบายที่จะสามารถช่วยชะลอปัจจัยที่ผลักดันการย้ายถิ่นที่มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเตรียมพร้อมสำหรับกระแสการอพยพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
- ทั่วโลกต้องพยายามลดการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนและทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านอุณหภูมิของข้อตกลงปารีส
- กำหนดให้ประเด็นการย้ายถิ่นภายในประเทศเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในการวางแผนระยะยาวสำหรับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ และครอบคลุม
- เตรียมพร้อมสำหรับการย้ายถิ่นที่จะเกิดในแต่ละช่วง เพื่อให้การย้ายถิ่นภายในประเทศเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในทางบวก
- ลงทุนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวขับเคลื่อนของการย้ายถิ่นภายในประเทศเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายที่ตรงเป้าหมาย
● อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : SDG Updates | Climate Migration ไม่ว่าใครก็อาจต้อง ‘ย้ายบ้าน’ เมื่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่มีที่อยู่
● อ่านรายงานฉบับใหม่ 2021 GLOBAL REPORT ON INTERNAL DISPLACEMENT
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
- (1.5) สร้างภูมิต้านทานและลดความเปราะบางต่อภัยพิบัติ/สภาพภูมิอากาศให้กับคนยากจนและที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
- (10.7) การอำนวยความสะดวกในการอพยพย้ายถิ่นของคนให้ปลอดภัย มีระเบียบ และมีการจัดการที่ดี
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐาน
- (11.5) ในด้านการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่มีต่อเมือง การปกป้องคนจนและกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
#SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- (13.2) บูรณาการมาตรการในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับชาติ
- (13.b) โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นและชนชายขอบ
ที่มา :
Climate change could trigger internal migration of 216 mln people – World Bank (Rueters)
Climate Change Could Force 216 Million People to Migrate Within Their Own Countries by 2050 (World Bank)