Site icon SDG Move

‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ ‘COP26‘ จบลงแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พร้อมกับข้อตกลงที่ยังคงพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่ความมุ่งมั่นเพื่อให้โลกยุติการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินยังคง ‘อ่อนแอ’

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องก่อน ภาษาว่าด้วย COP26: 13 คีย์เวิร์ดใช้ทำความเข้าใจบทสนทนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายอาโลก ชาร์มา (Alok Sharma) ประธานการประชุม COP26 ระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้นำโลกมีฉันทามติรับรอง Glasgow Climate Pact แต่ก็เป็น “ชัยชนะที่เปราะบาง”

ข้อตกลงด้านภูมิอากาศฉบับล่าสุด “Glasgow Climate Pact” ได้รับมติเห็นชอบจากผู้นำ/ตัวแทนประเทศผู้เข้าร่วมทั้งหมด 197 ประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้ยังยืนยันข้อตกลงระดับโลกในการเร่งดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในทศวรรษนี้ โดยมีเนื้อหาระบุถึงประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Glasgow Climate Pact จะยังคงความพยายามในการทำตามเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) แม้ความเป็นไปได้จะค่อนข้างริบหรี่ ดังนั้น จึงต้องการเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทะเยอทะยานมากขึ้นจากทุกประเทศ

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ประกาศเป้าหมายระยะยาวของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) แล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในการประชุม COP26 ครั้งนี้ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จภายในปี 2070

ข้อตกลงด้านภูมิอากาศฉบับนี้ยังจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจกระดับโลก เพราะกำหนดให้ทุกประเทศปรับปรุง ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด‘ (Nationally Determined Contributions : NDCs) ให้มีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากขึ้น และเสนอต่อที่ประชุมในการประชุม COP27 ที่จะจัดขึ้นในปี 2022 ซึ่งเดิมที่ตามข้อตกลงปารีส จะกำหนดให้ทุกประเทศต้องมีการทบทวน NDCs ทุก ๆ 5 ปี ซึ่งจะครบรอบถัดไปในปี 2025

การใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน

Glasgow Climate Pact เป็นข้อตกลงจากการประชุม COP ฉบับแรกที่มีแผนการชัดเจนในการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งเป็นต้นตอของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาแต่ละปีถึง 40%

อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุข้อตกลงเรื่องการลดใช้ถ่านหินกินเวลาการเจรจาต่อเนื่องหลายชั่วโมงจนมีช่วงต่อเวลาพิเศษ เนื่องจากมีการคัดค้านการใช้ถ้อยคำ “ยุติการใช้ถ่านหิน” (phase out) จากอินเดีย จีน และกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้พลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก จนมีการลดระดับของคำลงเหลือ “ลดการใช้ถ่านหิน” (phase down) ตามที่อินเดียเป็นผู้เสนอ และประเทศสมาชิกทั้งหมดตกลงยอมรับ โดยมีเหตุผลหลักในการแก้ไขในประเด็นที่ว่าการให้เงินอุดหนุนเพื่อการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศกำลังพัฒนา “ไม่มีประสิทธิภาพ”

ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา

Glasgow Climate Pact ให้คำมั่นว่าจะระดมทรัพยากรทางเงินจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลักเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนในการการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยมีความคาดหวังว่าจะสามารถระดมทุนให้ได้ถึงหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป หลังจากที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายเดิมที่สัญญาว่าประเทศรำ่รวยจะระดมทุนให้ได้ถึงหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2020

การให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในทำนองเดียวกับข้อตกลงเพื่อลดการใช้ถ่านหิน Glasgow Climate Pact ระบุว่า จะยุติ (phase out) การให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ทำให้ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกำหนดเป้าหมายด้านเวลาที่แน่นอน

—–

แม้ว่าหลายประเทศแสดงความคิดเห็นว่า Glasgow Climate Pact ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ และบางประเทศกล่าวว่า “น่าผิดหวัง” แต่โดยรวมแล้ว ประเทศสมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่สามารถตกลงร่วมกันในเวลานี้เมื่อพิจารณาความแตกต่างและเงื่อนไขมากมายของแต่ละประเทศ

ข้อความจากนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หลังการประชุม COP26

ทั้งนี้ยังมีข้อตกลงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากงานประชุม COP26 ได้แก่


แม้ว่าจะเป็นที่ชัดเจนว่าประเทศมหาอำนาจดำเนิการอย่างเชื่องช้าเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ในการประชุม COP26 ได้ทำให้ประชาคมโลกเห็นถึงพลังของภาคประชาชน โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นเยาวชน ในช่วงท้ายของการประชุม COP26 ในปีนี้มีเยาวชนมากกว่า 100,000 คนเดินขบวนบนถนนในกลาสโกว์เพื่อเรียกร้องการลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อปกป้องอนาคตของพวกเขาจากผู้นำระดับโลก การส่งเสียงและการเคลื่อนไหวของเยาวชนนี้จะเป็นแรงผลักที่สำคัญให้เกิดข้อตกลงด้านภูมิอากาศที่สำคัญต่อไปในอนาคต

ติดตามผลการประชุม COP26 ที่ ukcop26.org

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา :
COP26 closes with ‘compromise’ deal on climate, but it’s not enough, says UN chief (UN News)
Five things you need to know about the Glasgow Climate Pact (The Conversation)
Five big takeaways from COP26 (Washington Post)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version