เจ. ฮัสเลอร์ (J. Hassler)
นักวิชาการอิสระชาวเยอรมัน
SDG Updates ฉบับนี้เชิญชวนคุณผู้อ่านที่ติดตามสถานการณ์ทั่วโลกในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ร่วมสำรวจและสรุปบทเรียนของการดำเนินนโยบายเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และผลกระทบที่เกิดหรืออาจจะเกิดขึ้น จากกรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่แสดงท่าทีในการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานมาโดยตลอด พร้อมทั้งทำความเข้าใจพลวัตของความท้าทาย เพื่อนำมาปรับใช้เป็นตัวอย่างการออกแบบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานต่อการเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงความเป็นธรรมของไทยต่อไป
| การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม: เหตุใดเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับประเทศไทย
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลประเทศไทยได้กำหนดปีเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนตามหลังประกาศของประเทศอื่น ๆ ก่อนหน้า คณะรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันตั้งเป้าว่าไทยจะต้องมีสภาวะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2065 ความเป็นกลางทางคาร์บอนหมายถึงการปล่อยคอร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือก็คือจะต้องมีนโยบายเพื่อหักลบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่ปล่อยออกมา อาทิ ก๊าซมีเทน โดยแนวคิดพื้นฐาน คือ ลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย และอาศัยนโยบายต่าง ๆ มาจัดการกับก๊าซในส่วนที่เหลือ เช่น การซื้อสิทธิในการก่อมลภาวะ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสถานที่ปลอดภัย หรือปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ฯลฯ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อป้องกันสภาวะโลกร้อนด้วยการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเฉลี่ยเกินปีละ 1.5 องศาเซลเซียสตลอดช่วงสองทศวรรษข้างหน้า เนื่องด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มแต่ละองศาส่งผลที่ตามมาใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น อุทกขภัย ภัยแล้ง พายุเฮอร์ริเคน ฯลฯ ดังนั้น จึงถือได้ว่ามีผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยประสบอยู่เป็นประจำทุกปี
เป้าหมายข้างต้นย่อมขาดความคุ้มค่าหากไร้การเปลี่ยนผ่านพลังงาน ทว่าประเทศเยอรมนีเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียที่ไม่ได้ตั้งใจหรือคาดคิดซึ่งทำให้กลุ่มคนยากจนได้รับความเดือดร้อนยิ่งกว่าใคร ผมขอกล่าวถึงผลกระทบเหล่านั้นโดยย่อในบทความขนาดสั้นนี้ เพราะผลดีเป็นสิ่งที่ทั้งสังคมเยอรมันต่างยอมรับ ทั้งสภาพแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์กว่าเก่า มีนวัตกรรมและงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญสูงใหม่ ๆ การที่เยอรมนีได้กลายมาเป็นผู้นำด้านการรับมือกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรายหนึ่ง การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็วที่ช่วยให้ประเทศพึ่งพาตลาดพลังงานโลกที่ผันผวนง่ายน้อยลง รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของพลเมืองโดยรวม ผลดีเหล่านี้ก่อให้เกิดเสียงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เข้มแข็งและแพร่หลายในเยอรมนี ตัวอย่างเช่น แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานของพรรคการเมืองใหญ่แทบทุกพรรค เว้นแต่เพียงพรรคฝ่ายขวาที่แปลกแยกพรรคเดียว ล้วนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกประเด็นพลังงานหมุนเวียนเป็นนโยบายหลักนโยบายหนึ่งในช่วงสองสามปีข้างหน้า และเดินหน้าผลักดันการดำเนินงานให้ก้าวไกลยิ่งกว่าที่แล้วมาในอดีตด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อปีกลาย สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขยายตัวจากร้อยละ 6 เมื่อปี ค.ศ. 2000 มาเป็นร้อยละ 46
สำหรับประเทศเช่นประเทศไทย การอภิปรายเรื่องผลเสียที่เยอรมนีเผชิญจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อเป็นบทเรียนถึงสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงในขั้นตอนร่างและดำเนินนโยบายหรือลงมือกระทำต่าง ๆ อันเป็นประเด็นหลักที่บทความนี้ต้องการจะสื่อ
| การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมคืออะไร
กล่าวโดยย่อ การเปลี่ยนผ่านพลังงานคือการพลิกโฉมเศรษฐกิจที่ซับซ้อน มีจุดประสงค์เพื่อเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกประเภทด้วยการเน้นส่งเสริมแหล่งพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแทน เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการจัดหาและใช้พลังงานของทุกระดับสังคม ผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจและตัวแทนภาคส่วนประชาสังคมจำเป็นต้องพิจารณาการใช้นโยบายเข้าแทรกแซงหลาย ๆ ด้านที่จะมีผลต่อสังคมและเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน เช่น บริการสาธารณะ (พลังงาน คมนาคม ฯลฯ) ข้อกำหนดการก่อสร้างตึกอาคาร นโยบายอุตสาหกรรม การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล การใช้พลังงานโดยครัวเรือน ภาคการศึกษา หรือตลาดแรงงาน เป็นต้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมจะเพิ่มมิติทางสังคมแก่การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเหล่านี้ และคอยดูแลกวดขันว่ากลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่สุดจะสามารถได้รับประโยชน์ตามข้างต้น แทนที่จะต้องประสบกับความทุกข์เข็ญ
การเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนและโคงสร้างสังคมย่อมเป็นเรื่องซับซ้อนเสมอ แต่ก็เป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กระบวนการนี้ต้องอาศัยการแทรกแซงการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ระดับสังคมที่หลากหลาย
| ประวัติการเปลี่ยนผ่านพลังงานของเยอรมนีโดยสังเขป
คำว่า “Energiewende” (เอเนอกีเวนเดอ) ในภาษาเยอรมันหรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานปรากฏขึ้นครั้งแรกระหว่างการถกเถียงเชิงสาธารณะราวปี ค.ศ. 1980 ที่เยอรมันตะวันตก โดยรัฐสภาเยอรมันมีมติเห็นชอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแรกช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ทว่ากฎหมาย “เอเนอกีเวนเดอ” ฉบับแรก ๆ โดยรัฐบาลกลาง คือกฎหมายรับซื้อไฟฟ้าที่ประกาศใช้ตามมาในปี 1990 นับเป็นการเปลี่ยนนโยบายไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานโดยใช้ทั้งแรงจูงใจและกฎหมายบังคับ (ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ) ด้วยการใช้ระบบรับซื้อไฟฟ้า (ประกันราคาและบังคับเปิดช่องให้ผู้ผลิตพลังงานทดแทนสามารถเข้าถึงเครือข่ายและโครงข่ายการจ่ายพลังงานไฟฟ้าของเยอรมนีที่ ณ ขณะนั้นเป็นการผูกขาด) กฎหมายรับซื้อไฟฟ้าฉบับนี้ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานแบบรายย่อยและกระจายศูนย์ ดังนั้นจึงช่วยหล่อเลี้ยงทั้งอุปสงค์และอุปทานไปพร้อมกัน เมื่อเวลาผ่านไป กฎหมายและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวส่งผลให้ทั้งสาธารณชนและนักการเมืองยอมรับพลังงานหมุนเวียน ถึงอย่างนั้น ก็มีการชี้ถึงปัญหาและความท้าทายของข้อกฎหมายข้างต้นโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ศาลประเทศเยอรมนีในทศวรรษนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่บทความนี้ไม่อาจกล่าวถึงโดยละเอียด
อย่างไรก็ดี สหพันธ์รัฐบัญญัติแหล่งพลังงานหมุนเวียน (EEG) คือข้อกฎหมายที่บ่งบอกถึงความก้าวหน้าครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2000 กฎหมายนี้ตั้งเป้าว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งประเทศเยอรมนีจะต้องมีส่วนแบ่งระหว่าง 5% ถึง 10% ภายในปี 2010 พร้อมบังคับให้ผู้ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ความสำคัญกับโรงงานผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นอันดับหนึ่งขณะวางแผนและตัดสินใจลงทุน กฎหมายนี้ได้ผลเนื่องจากรับประกันตัวเลขผลตอบแทนจำนวนหนึ่งเพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียน ตัวกฎหมายนี้มีการแก้ไขและปรับปรุงหลายครั้งในปี 2003, 2009, 2012 และ 2014
ระหว่างปี 2014 ถึง 2016 คือช่วงการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งที่สอง เป็นการผลักดันให้ใช้ระบบประมูลและประกวดราคาสำหรับใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานพลังงานหมุนเวียนระดับชาติและเหนือชาติ (สหภาพยุโรป) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบเปลี่ยนผ่านพลังงานแก่ภาคประชาชน ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีการตัดสินใจครั้งสำคัญสองครั้งที่ผลักดันการถกเถียงและการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายข้างต้นไปยิ่งกว่าเดิม นั่นคือ รัฐสภาและรัฐบาลเยอรมันประกาศเลิกใช้พลังงานหลักของประเทศสองประเภทอย่างพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินโดยสิ้นเชิงเนื่องจากภาคประชาสังคมกดดัน ในขณะเดียวกัน มีการถกเถียงเชิงสาธารณะอย่างรุนแรงเรื่องวิธีดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคอร์บอนเร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งสองเรื่องนี้สร้างแรงกดดันมหาศาลให้มีการกำหนดและออกทุนสนับสนุนนโยบายสร้างสรรคเพื่อทำตามเป้าหมายที่แสนจะทะเยอทะยานนั้นให้สำเร็จ แต่นอกจากผลดีที่ได้ การพัฒนาครั้งนี้ก็ยังก่อผลเสียทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่งจะปรากฏให้เห็นหลังเวลาผ่านไป และทั้งยังคาดเดาล่วงหน้าได้ยาก ณ ตอนเริ่มต้นชูนโยบายเปลี่ยนผ่านพลังงาน
| เยอรมนีประสบผลเสียอะไรบ้าง
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว รัฐบาลเยอรมันเริ่มต้นด้วยระบบรับซื้อไฟฟ้าที่ได้รับเสียงชื่นชมและมีการนำไปใช้ต่อทั่วโลก การลดหย่อนภาษี และเงินอุดหนุนหลากหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียนอย่างแผงเซลล์สุริยะ มีการริเริ่มระบบที่ร่วมค่าประกันเข้าในค่าไฟรายเดือนที่ผู้บริโภคจ่ายซึ่งเงินเพิ่มเติมส่วนนี้จะนำไปอุดหนุนการลงทุนจำนวนมหาศาลที่ภาคพลังงานหมุนเวียนต้องการ อันเป็นการลงทุนที่ทำให้ผู้บุกเบิกตลาดนี้เห็นว่าภาคธุรกิจดังกล่าวคุ้มค่าแก่การลงทุนมากขึ้น แต่ผลปรากฏว่าการตัดสินใจเช่นนี้ส่งผลเสียต่อราคาพลังงาน กล่าวคือ โดยปกติ ราคาพลังงานที่ผู้บริโภคประเทศเยอรมนีต้องจ่ายนั้นสูงอยู่แล้ว แต่ราคาขณะนั้นกลับพุ่งสูงกว่าเดิมจนเยอรมนีกลายเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นับว่าเป็นเรื่องดีที่ระบบประกันสังคมเยอรมันยังสามารถเป็นกันชนรองรับผลกระทบนี้แทนกลุ่มผู้เปราะบางและมีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคม ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ทวีปยุโรปและประเทศเยอรมนีเองก็มีปัญหาราคาพลังงานเพิ่งสูง ส่วนประเทศอย่างประเทศไทย ราคาพลังงานที่สูงขึ้น เช่น ค่าเครื่องปรับอากาศ ค่าไฟฟ้า หรือค่าน้ำมัน ก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนหลายล้านเนื่องจากต้องเจียดสัดส่วนรายรับจำนวนมากไปกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ทั้งนี้ ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่ารัฐบาลไทยจะสามารถสร้างกันชนรองรับผลกระทบต่อราคาตลาดหลังวิกฤตเศรษฐกิจอันยาวนานที่เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ไปได้นานเท่าใด เยอรมันเองก็พยายามคาดการณ์ล่วงหน้าและรับมือกับผลกระทบจำพวกนี้ด้วยการกำหนดและใช้นโยบายที่เหมาะสมก่อนราคาจะพุ่งสูงขึ้น ปัจจุบัน เยอรมนียังคงมีการอภิปรายว่าควรทำเช่นไร สมาชิกผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคต่าง ๆ เสนอความคิดหลากหลาย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกันหรือนำแนวคิดใดไปปฏิบัติโดยเฉพาะ
ตัวอย่างผลเสียที่เกิดโดยไม่ได้ตั้งใจหรือคาดการณ์มาก่อนอีกข้อคือ ในตอนต้น มีการคิดค้นนวัตกรรมและสร้างงานใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของภาคพลังงานหมุนเวียนมากมาย ณ ตอนที่มีความนิยมสูงสุด ธุรกิจแผงโซล่าเซลล์สในช่วงตั้งต้นเพียงตัวเดียวก็ว่าจ้างบุคลากรที่มีทักษะเชี่ยวชาญสูงถึง 133,000 คน แต่ทว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ธุรกิจนี้ไม่ยั่งยืน ไม่กี่ปีต่อมา ผู้นำตลาดโลกสัญชาติเยอรมันบางรายต้องยื่นขอล้มละลาย ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าปัญหาเช่นนี้มีสาเหตุด้วยกันสองประการ ประการที่หนึ่ง มีคู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะที่ทวีปเอเชียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งบีบให้ผู้บุกเบิกชาวเยอรมันต้องถอนตัว เนื่องจากคู่แข่งขันปรับตัวจนไล่ตามทันได้รวดเร็ว สามารถเสนอขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ระบบสนับสนุนระยะยาวที่รับประกันโดยภาครัฐทำให้บริษัทเยอรมันตายใจ ไม่กระตือรือร้นจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ภายในระยะเวลาอันสั้น อุตสาหกรรมโซล่าเซลล์ของเยอรมนีจึงไม่สามารถแข่งขันทั้งทางด้านราคาและผลิตภัณฑ์กับคู่แข่งรายอื่น ๆ เพราะไม่เหลือข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้ ภาคส่วนนี้ไม่ได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ฟื้นตัวขึ้นมาหลังต้องปรับตัวอย่างยากลำบาก มีการสูญเสียงานไปเป็นจำนวนมาก และประสบปัญหาอย่างหนัก ปัจจุบัน โอกาสการจ้างงานกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ผันผวนขึ้น-ลงเช่นนี้ในภาคส่วนตลาดที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างยิ่ง ประสบการณ์นี้ของเยอรมนีเกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานน่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายอุตสาหกรรมและการลงทุนของไทย มีสิทธิ์ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตลาดแรงงานประเทศไทย ประชาชนจำนวนมากอาจต้องฝึกฝนหรือเรียนรู้ทักษะสำหรับงานใหม่ เพิ่มเติมจากความท้าทายที่สังคมไทยประสบพบเจออยู่เป็นประจำจากระบบการศึกษาที่มี
ตัวอย่างผลเสียของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอีกข้อหนึ่งที่เยอรมนีประสบก็คือ ความพยายามของรัฐบาลที่จะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคที่อยู่อาศัยและผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลเยอรมันวางกรอบกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อรับมือกับปัญหาการใช้พลังงานโดยสิ้นเปลืองของภาคที่อยู่อาศัย มีทั้งส่วนที่เป็นแผนกระตุ้นและส่วนที่เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายคอยกำกับนักพัฒนาที่ดิน ด้วยเหตุนี้ เจ้าของบ้านเรือนและนักพัฒนาที่ดินจึงต้องลงทุนอย่างมาก เช่น ติดตั้งฉนวนกันความร้อนตามผนังบ้านเรือนเพื่อเก็บกักความร้อนท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บช่วงฤดูหนาวที่ยุโรปกลาง เป็นที่ยอมรับทั่วกันว่าเรื่องนี้สร้างภาระทางการเงินที่หนักอึ้งแก่เจ้าของบ้านไม่ว่าจะหลังใหญ่หรือหลังเล็ก ซึ่งระบบนี้เอื้อให้มีการถ่ายโอนค่าใช้จ่ายบางส่วนไปเรียกเก็บเป็นค่าเช่ารายเดือนจากผู้เช่า แต่แม้จะมีข้อกฎหมายจำกัดว่าสามารถเรียกเก็บเพิ่มในค่าเช่ารายเดือนได้เป็นจำนวนเงินเท่าไร การปรับปรุงและค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างก็มีส่วนช่วยทำให้ค่าเช่าที่เมืองเยอรมันหลายเมืองเพิ่มสูงถึงขนาดที่ผู้อาศัยจำนวนมากหวั่นเกรงว่าต้องเสียบ้านเพราะไม่อาจจ่ายค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นกระทันหันไหว นี่ก็นับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศอย่างประเทศไทยอย่างยิ่ง คนหลายล้านคนต้องพึ่งพาห้องเช่าราคาถูกเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับประกอบธุรกิจ ข้อกำหนดด้านการก่อสร้างเป็นเครื่องมืออันทรงอำนาจที่จะทำให้ที่พักอาศัยประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่ถ้าหากไม่มีการจัดการที่ดีพอ นี่อาจสร้างภาระทางการเงินที่หนักอึ้งแก่ผู้ที่มีความเปราะบางสูงในสังคม การถกเถียงสาธารณะที่นับรวมคนทุกกลุ่มในสังคมจำเป็นต้องมาพิจารณาประเด็นสำคัญนี้
| บทสรุป
กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในเยอรมนีเกิดขึ้นจากการนำโดยรัฐบาลกลางและเป็นกระบวนการที่เริ่มจากบนลงล่าง หมายความว่ารัฐบาลกลางเยอรมันเป็นผู้เปลี่ยนแปลงกฎหมายและริเริ่มแผนการจูงใจต่าง ๆ เพื่อปรับพฤติกรรมคน มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งคอยผลักดันให้การพัฒนานี้คืบหน้า แต่ในระยะเริ่มต้น นี่ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นจากระดับล่าง ถึงแม้จะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม ต่อจากกระบวนการออกกฎหมายประเภทบนลงล่างนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานก็แปรสภาพไปเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดฉันทามติร่วมกันทั้งประเทศที่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใหญ่แทบทั้งหมดสนับสนุน สิ่งที่ปัจจุบันภาคประชาชนเยอรมันถกเถียงกันบ้างไม่ใช่เรื่องของทิศทางแต่อย่างใด แต่เป็นความรวดเร็วและขอบเขตของมาตรการต่าง ๆ เสียมากกว่า
ดังที่ศึกษาได้จากกรณีของเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านพลังงานมีข้อดีต่อสังคมและบุคคลนับไม่ถ้วน หากมีการบริหารจัดการที่ดี เปิดโอกาสให้มีวิธีผลิตพลังงานอันจำเป็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการลดมลภาวะทางอากาศ และลดการพึ่งพาตลาดเชื้อเพลิงฟอสซิลโลก ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการดังกล่าวยังสร้างงานและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับเยอรมนี ดังนั้นจึงเป็นการสนับสนุนให้แปลงโฉมนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ แม้สิ่งสำคัญจะเป็นการต้องมีข้อสันนิษฐานที่ยึดโยงกับความเป็นจริงก่อนริเริ่มปรับนโยบาย เรื่องนี้คือบทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งจากกรณีของเยอรมนี เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมบางภาค และลูกจ้างบางรายจะต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างไประหว่างการเปลี่ยนผ่านและต้องการความช่วยเหลือสนับสนุน
หากเราพิจารณาประสบการณ์จริงที่เยอรมนีเผชิญทั้งหมด เราสามารถได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้
- การบรรเทา/ปรับตัวกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ใช่กระบวนการที่ไร้ความสลักสำคัญ เนื่องจากต้องอาศัยการแทรกแซงพฤติกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวพันกับหลายภาคส่วนในหลาย ๆ ระดับสังคมเพื่อให้เกิดกระบวนการข้างต้น อาจส่งผลให้มีพัฒนาการที่ไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าหลายประการที่ทั้งสังคมและผู้ตัดสินใจต้องรับมือและปรับตัวไประหว่างทาง แม้การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้จะให้ผลดีมากมาย แต่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน
- กระบวนการนี้อาจส่งผลให้กลุ่มประชากรบางกลุ่มหรือผู้ที่มีความเปราะบางมีสภาพที่เลวร้ายกว่าเดิม หากปราศจากกระบวนการนับรวมคนทุกกลุ่มทางสังคมคอยกำกับอีกขั้นหนึ่ง แม้พลเมืองโดยรวมมีส่วนร่วมด้วย กระบวนการนี้ก็มักจะบริหารจัดการได้ยากเพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันของประชาชนแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ ผลกระทบบางส่วนก็คาดเดาล่วงหน้าได้ลำบาก ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งและจัดการกับความคาดหวังของกระบวนการนี้ที่ยึดโยงกับความเป็นจริง ส่วนใดที่ภาครัฐจำเป็นต้องแทรกแซงก็ต้องมีการหมั่นตรวจสอบ อภิปราย และปรับปรุงอย่างสร้างสรรค์อยู่เสมอ ๆ สิ่งสำคัญที่ต้องพึ่งระวังคือแต่ละประเทศมีความแตกต่าง และเรื่องว่าควรใช้มาตรการอย่างไรบ้างนั้นก็ควรขึ้นอยู่บนบริบทของแต่ละประเทศ
- ตัวอย่างของประเทศเยอรมนีแสดงให้เห็นว่ากลไกประเมินจัดหาค่าใช้จ่ายของการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามความจริง รวมถึงผลกระทบต่อราคาพลังงานและตลาดแรงงานนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การถกเถียงเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่นับรวมทุกคนอย่างแท้จริงต้องพัฒนาแนวคิด กลยุทธ์ นโยบาย ข้อกฎหมาย และแรงจูงใจ โดยทุกคนมีส่วนร่วม มีความยินยอมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจด้านค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวสู่สังคมตามความสามารถทางเศรษฐกิจ
แปลและเรียบเรียงโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 13 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564
ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 (7.2) และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 (7.a)
.
ซึ่งเกี่ยวพันกับการรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม #SDG13 โดยเฉพาะที่การหันมาใช้พลังงานสะอาด เป็นหนึ่งก้าวที่สะท้อนการตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (13.3)
.
โดยคำนึงถึง #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า โดยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ (8.1) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ (8.2) ส่งเสริมโอกาสงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (8.5)
.
โดยในการหันมาเลือกใช้พลังงานสะอาด ยังสัมพันธ์กับการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีตาม #SDG9
.
ทั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยองค์ประกอบสำคัญอย่าง #SDG16 สังคมสงบสุขเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน (16.3) สถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.6) และการมีกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7)