โพลการสำรวจ The Changing Childhood Project โดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และ Gallup ล่าสุดระบุว่า เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ราว 50% “เชื่อว่า” โลกกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายคนเชื่อว่าการให้บริการสาธารณสุข การศึกษา และความปลอดภัยทางกายภาพ ดีขึ้นมากกว่าสมัยคนรุ่นพ่อแม่
ถึงแม้จะมองด้วยสายตาแห่งความหวัง คนรุ่นใหม่ก็ยังต้องการการเปลี่ยนแปลงและ “การลงมือทำ” อย่างเร่งด่วนต่อวิกฤติที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยแสดงความกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มีเพิ่มขึ้น ตั้งคำถามอย่างฉงนสงสัย (skeptical) ต่อข้อมูลที่ได้รับจากโซเชียลมีเดีย เชื่อในนักวิทยาศาสตร์ มองว่าตนเองเป็น “พลเมืองโลก” มากกว่าคนรุ่นก่อน พร้อมเปิดรับความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนรุ่นที่เผชิญกับอาการซึมเศร้า ส่วนหนึ่งคือความรู้สึกกดดันที่จะต้อง “ประสบความสำเร็จ”
“เมื่อเทียบกับคนรุ่นเก่าแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ในโลกยังมีความหวัง เปิดกว้างต่อโลก และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยแม้ว่าจะมีความกังวลในอนาคต แต่ก็มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชันในการแก้ปัญหา” – Henrietta Fore, UNICEF Executive Director
โดยโพลดังกล่าวได้สำรวจประชาชนมากกว่า 21,000 คน ทั้งวัยผู้ใหญ่ (40 ปีขึ้นไป) และเยาวชน/คนรุ่นใหม่วัยแรงงาน (15 – 24 ปี) ใน 21 ประเทศครอบคลุมภูมิภาคอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา และครอบคลุมครัวเรือนตามระดับรายได้ ถามคำถามเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อโลก และ “การเป็นเด็กในยุคสมัยปัจจุบันเป็นอย่างไร” โดยสรุป พบว่า
- ข้อมูลชี้ว่าคนรุ่นใหม่เป็นผลผลิตของโลกาภิวัตน์ โดยคนรุ่นใหม่ 39% มากกว่าคนรุ่นเก่าเกือบ 2 เท่า (22%) ที่มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ “โลก”
- โดยเฉลี่ย 58% ของคนรุ่น 15-24 ปี เชื่อว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้นำทางการเมืองจะต้องฟังเสียงเรียกร้องของเด็ก
- ส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่ มองว่าประเทศของพวกเขาจะปลอดภัยขึ้นจากโรคระบาด หากรัฐบาลร่วมมือกันในการจัดการ มากกว่าจัดการด้วยตัวเองโดยไม่ให้ความร่วมมือ
- ด้านความก้าวหน้าในการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ (discrimination) นั้น คนรุ่นใหม่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และพร้อมจะร่วมมือกันเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายได้ยินเสียงที่เรียกร้อง
- คนรุ่นใหม่ให้การสนับสนุนสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นอย่างมาก โดยที่มีผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้นำต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม
- โดยเฉลี่ย เกือบ 1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่มองว่ารัฐบาลควรจะลงมือจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำที่ 83% ยิ่งให้ความสำคัญกับการลงมือทำของรัฐบาล ด้วยคาดว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบกับประเทศเหล่านี้มากที่สุด
- 64% ของคนรุ่นใหม่ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศน่าจะดีกว่าในรุ่นพ่อแม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ในประเทศที่มีรายได้สูงไม่เชื่อในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก
- คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองเห็นความเสี่ยงอย่างร้ายแรงบนโลกออนไลน์ที่จะมีต่อเด็ก อาทิ คอนเทนท์ที่แสดงถึงความรุนแรง การละเมิดทางเพศ การกลั่นแกล้ง โดยมีเพียง 17% ที่เชื่อว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียจะเป็นที่ที่ให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
- ในขณะเดียวกัน มีคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ใน 3 ที่รู้สึกกระวนกระวายใจ มีอาการซึมเศร้า หรือไม่ค่อยมีความรู้สึกสนใจอยากจะทำอะไร และถึงในภาพรวมคนรุ่นใหม่จะเชื่อว่าโลกกำลังดีขึ้น แต่โดยเฉลี่ย 59% ระบุว่า เด็กในวันนี้เผชิญกับแรงกดดันที่จะต้อง “ประสบความสำเร็จ” มากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ในวัยเดียวกัน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษา ในด้าน (4.7) ความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน วิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
.
โดยประเด็นเกี่ยวกับ “เด็กและเยาวชน” ยังอยู่ใน SDGs หลายเป้าหมายด้วยกัน ซึ่งเป็นการพูดถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะ การเคารพสิทธิมนุษยชน และได้รับความคุ้มครอง