การสำรวจต้องฟังเสียงทุกคน และไม่ตกหล่นผู้พิการ ‘iData’ แพลตฟอร์มสำรวจออนไลน์ที่เข้าใจเงื่อนไขผู้พิการ

ช่องว่างข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ มักอยู่ในรูปแบบของการประมาณ เพราะแบบสำรวจต่าง ๆ มักไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้พิการและผู้มีเงื่อนไขทางร่างกายสามารถตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น เสนอความต้องการได้อย่างสะดวก นำมาสู่นโยบายและโครงการที่ไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้พิการ แพล็ตฟอร์มการทำแบบสำรวจออนไลน์ ‘iData’ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เสียงของผู้พิการดังไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

“ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเราโดยที่เราไม่มีส่วนร่วม” – Nothing about us without us.

iData ถูกพัฒนาขึ้นโดย International Disability Alliance (IDA) เครือข่ายขององค์กรของผู้พิการระดับโลก 8 แห่ง และระดับภูมิภาคอีก 6 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงของคนพิการถึงประมาณ 1.2 พันล้านคนทั่วโลก ร่วมกับองค์กรสนับสนุนภาคธุรกิจ Preignition เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำแบบสำรวจออนไลน์ที่ได้มาตรฐาน WCAG 2.1 หรือ Web Content Accessibility Guidelines ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทดสอบการใช้งานแล้วโดยกลุ่มผู้พิการ มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผู้พิการมักพบจากการออกแบบการสำรวจที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงของผู้ตอบ ครอบคลุมทุกคนอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

ในการทำแบบสำรวจผ่าน iData จะมาพร้อมฟังก์ชันเฉพาะเพื่อปรับรูปแบบการสำรวจให้เข้ากับความสะดวกของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยผู้ตอบสามารถเลือก

  • ให้ระบบอ่านคำถามในรูปแบบเสียงด้วยความเร็วเสียงที่แตกต่างกัน
  • เปลี่ยนสีธีม ปรับความคมชัด และเพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ดูวิดีโอคำถามในภาษามือ
  • อ่านคำถามในรูปแบบที่อ่านง่ายกว่า (EasyRead) พร้อมภาพประกอบ
  • ให้คำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับคำ/ข้อความที่ซับซ้อนหรือให้คำแนะนำว่าควรตอบคำถามอย่างไร

อีกทั้งยังมีฟังก์ชันที่ใช้แบนด์วิชท์ (Bandwidth) ของการเชื่อมต่อเมื่อตอบแบบสำรวจต่ำ ทำให้สะดวกกว่าสำหรับผู้ใช้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างจำกัด และมีให้เลือกถึงเกือบ 10 ภาษา

IDA ได้เริ่มใช้งาน iData จริงแล้วในการทำแบบสำรวจระดับโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมขององค์กรของคนพิการในนโยบายและโครงการพัฒนา สามารถกดร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อดูฟังก์ชันแบบสำรวจที่เข้าใจเงื่อนไขการเข้าถึงของผู้พิการที่ Second IDA Global Survey on OPDs Participation in Policies and Programmes

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ
- (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
- (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
- (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

ที่มา : Including Perspectives of Persons with Disabilities Through Accessible Survey Tools (IISD Knowledge Hub)

Last Updated on พฤศจิกายน 22, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น