นักสมุทรศาสตร์ 22 ประเทศ เรียกร้องให้มีระบบติดตามระดับออกซิเจนในมหาสมุทร ป้องกันการเกิด Dead Zone

กลุ่มนักสมุทรศาสตร์เรียกร้องให้มีระบบระดับโลกเพื่อติดตามการสูญเสียออกซิเจนในพื้นที่มหาสมุทรและน่านน้ำชายฝั่งทั่วโลก เพื่อป้องกันการเกิดเขตมรณะ (dead zone) ในทะเลและมหาสมุทร จนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

นักสมุทรศาสตร์ 57 คนจาก 45 สถาบันใน 22 ประเทศได้ร่วมเขียนบทความ ‘A global ocean oxygen database and atlas for assessing and predicting deoxygenation and ocean health in the open and coastal ocean’ เพื่อระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาระบบติดตามและทำแผนที่ระดับออกซิเจนในมหาสมุทรทั่วโลก ที่จะสามารถช่วยรักษาสุขภาพของระบบนิเวศมหาสมุทรและชายฝั่ง เพื่อป้องกันการเกิด/การขยายตัวของเขตมรณะในพื้นที่ทางทะเล

Dead Zone หรือ เขตมรณะ คือพื้นที่ในมหาสมุทรหรือชายฝั่งที่มีออกซิเจนในระดับต่ำหรือไม่มีออกซิเจนเลย ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้นานหลายวันหรือหลายเดือน ทำให้สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง กั้ง ปู ปะการัง พืชใต้ทะเล ตาย ปัจจุบันทั่วโลกมีเขตที่เรียกว่า เขตพร่องออกซิเจน (hypoxic zones) มากถึงหลายร้อยพื้นที่บนแนวชายฝั่ง พื้นที่หนึ่งที่มีความรุนแรงสูงเกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกในทุกช่วงฤดูร้อน โดยเมื่อปี 2017 กินพื้นที่กว้างถึง 23,000 ตารางกิโลเมตร

การสูญเสียออกซิเจนในมหาสมุทรอาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์โลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นปัจจัยเร่งที่ส่งผลต่อปริมาณออกซิเจนที่กักเก็บไว้น้อยลง ในขณะที่การสูญเสียออกซิเจนในพื้นที่ชายฝั่งมักเป็นผลกระทบจากมลพิษจากธาตุอาหารส่วนเกิน (nutrient pollution) ที่มาจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรืออาหารสัตว์ไหลลงปากแม่น้ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ของสาหร่าย ที่ดึงเอาออกซิเจนออกจากน้ำไปใช้ในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว

กลุ่มนักสมุทรศาสตร์ได้ระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีเครื่องมือสำหรับการวัดออกซิเจนในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน และต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลที่ไม่เป็นสาธารณะหรือไม่ได้มาตรฐานระดับเดียวกัน เพื่อให้การประเมินและการวิจัยการสูญเสียออกซิเจนระยะยาวในมหาสมุทรและชายฝั่งทั่วโลกทำได้สะดวกขึ้นและมีความแม่นยำมากขึ้น โดยเสนอให้ระบบติดตามระดับโลกนี้อยู่ภายใต้กรอบการทำงานของโครงการ UN Global Ocean Oxygen Decade ที่เพิ่งได้รับการรับรองโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ของยูเนสโก (IOC-UNESCO)

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG14 นิเวศมหาสมุทร
- (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568

ที่มา : Ocean scientists call for global tracking of oxygen loss that causes dead zones (The Guardian)

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น