เดชรัต สุขกำเนิด
ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต
ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ข่าวการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26 หรือ COP26) ซึ่งในปี 2564 นี้จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (หรือ Net Zero) และการต่อรองระหว่างการใช้คำว่า “ลด” หรือ “เลิก” การใช้ถ่านหิน ในฐานะแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุดในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแปลว่า โลกของเรา (และประเทศไทย) จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
แต่นอกเหนือจากการเจราจาภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ด้วย
บทความนี้จึงชวนให้มองการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ทั้งในมุมมองของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อที่จะตอบคำถามว่า ..
“ประเทศไทยยังทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกบ้าง?”
| การประชุม COP26
การประชุม COP26 ครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยความหวังว่าจะสามารถกำหนดเกณฑ์ให้ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 45 ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อไปสู่เป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
หลังจากเจรจาต่อรองกันยาวนานเกือบ 2 สัปดาห์ จนต้องต่อเวลาพิเศษ ประเทศที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศก็บรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า “Glasgow Climate Pact” ได้สำเร็จ โดยมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการลดการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลลงในข้อตกลงนี้ โดยขอให้ประเทศต่าง ๆ เร่งความพยายามในการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งครอบคลุมโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด
แม้ว่า COP26 จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ในอนาคตอันใกล้ ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องเพิ่มเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับปี 2030 เพราะปัจจุบันโลกยังอยู่ในเส้นทางการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิระหว่าง 2.5 – 2.7 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี 2015 ซึ่งกำหนดเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย หรือเป้าหมายในอุดมคติที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
เพราะฉะนั้น ข้อตกลง Glasgow Climate Pact จึงเป็นเพียงยาบรรเทาปวด เพื่อระงับอาการชั่วคราว โดยยังไม่สามารถตกลงเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้
| คำประกาศของประเทศไทย
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจในการประชุม COP26 คือ คำประกาศของรัฐบาลไทยที่ระบุว่า ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) โดยเร็วที่สุดภายในระยะครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak GHG Emissions) ใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ขณะเดียวกัน จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ผ่านการดำเนินงานตามแผนพลังงานแห่งชาติ
คำถามที่ตามมาก็คือ คำประกาศดังกล่าวถือเป็นคำประกาศที่กล้าหาญของไทยในการรับผิดชอบต่อการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หรือเป็นเพียงการยื้อเวลาออกไปก่อนเท่านั้นเอง?
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยชี้ให้เห็นคำตอบคือ จุดยืนตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยอ้างถึงไว้ ในประเด็นเรื่อง การลด/เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน กรอบแผนพลังงานแห่งชาติของไทยระบุว่า ไทยจะกำหนดนโยบายที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2593 เป็นต้นไป ข้อความดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า
- การปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยจะเป็นการ “ทยอยปลด” โดยไม่มีการกำหนดแผนการที่ชัดเจนและก้าวหน้ามากขึ้น ในการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนเวลาที่กำหนด
- นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังอาจเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นได้ในระยะ 30 ปีนี้ (ก่อนปี พ.ศ. 2593) ตราบเท่าที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการปลดระวางไป
เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยประกาศ อาจมีนัยยะว่า ประเทศไทยของเรายังไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม (โดยเฉพาะในระยะสั้น) นอกจากทำตามแผนที่เคยมี
| ทางเลือกในการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายในสังคมไทย อยากให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทย เป็นไปในอัตราเร่งกว่านี้ เพื่อให้ทันกับเป้าหมายการรักษาระดับภูมิอากาศโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส
รายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย (Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)’ โดยกองทุนแสงอาทิตย์, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรีนพีซ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในความพยายามที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยสามารถปลดระวางถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุดภายใน พ.ศ. 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายใน พ.ศ. 2580 ซึ่งเร็วกว่าที่รัฐบาลไทยวางแผนไว้อย่างน้อยถึง 13 ปี
รายงานนี้ได้เสนอแนวทางการปลดระวางถ่านหินจากระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบ 3 ฉากทัศน์สำคัญในการปลดระวางถ่านหินของประเทศไทย คือ
- กรณีฉากทัศน์ที่ S1 – ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน (PDP2018 Revision 1) ซึ่งถ่านหินจะคงถูกใช้อยู่ตลอดแผนและต่อเนื่องไป
- กรณีฉากทัศน์ S2 – ดำเนินการปลดระวางถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2580 โดยการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม จนหมดในปี พ.ศ. 2580
- กรณีฉากทัศน์ S3 – เร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าบางฉบับก่อนครบกำหนด เพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินปลดระวางทั้งหมดในปี พ.ศ. 2570
รายงานดังกล่าวได้ทำการศึกษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในทั้ง 3 ฉากทัศน์ แล้วพบว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตสำรองเหลือมากกว่าร้อยละ 40 (หรือเกือบ 14,000 เมกะวัตต์) การดำเนินการตามข้อเสนอฉากทัศน์ S2 และฉากทัศน์ S3 ที่จะปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีทั้งหมด 6,000 เมกะวัตต์ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่จะเข้ามาสู่ระบบตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือแผน PDP) ระบบไฟฟ้าของไทยในฉากทัศน์ S2 และฉากทัศน์ S3 ก็ยังสามารถคงความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในระดับกำลังผลิตสำรองที่มากกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศได้ตลอดช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2580 ได้
การปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รวดเร็วขึ้น นำมาซึ่งประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 21.2 – 24.1 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับโดยป่าสมบูรณ์ขนาด 3.95 ล้านไร่ (ประมาณ 4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร) และการดำเนินการตามฉากทัศน์ S3 ยังสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนได้ 38,200 ตัน ตลอดช่วงเวลาปี 2564 – 2580 หากเทียบกับกรณีฉากทัศน์ที่ 1 ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศได้ประมาณ 9,545 ราย
อย่างไรก็ดี การปลดระวางถ่านหินอาจทำให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในรายงานดังกล่าว ได้ประมาณการณ์ไว้ว่า
- กรณีฉากทัศน์ S2 – ดำเนินการปลดระวางถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2580 จะส่งผลกระทบต่อการยกเลิกการจ้างงานในช่วงประมาณ 2,000 – 4,500 ตำแหน่งงาน
- กรณีฉากทัศน์ S3 – เร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี พ.ศ. 2570 จะส่งผลกระทบต่อการยกเลิกการจ้างงานในช่วงประมาณ 3,000 – 6,500 ตำแหน่งงาน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) สำหรับแรงงานและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากถ่านหิน มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทางในการดำเนินการ ได้แก่
- การใช้กระบวนการการเจรจาทางสังคมที่มีส่วนร่วม บนพื้นฐานของการคุ้มครองทางสังคม และสิทธิในที่ทำงาน เพื่อมุ่งไปสู่การมีงานที่มีคุณค่าภายใต้การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น
- ดำเนินการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมให้เกิดประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน เช่น การสร้างอุทยานพลังงานหมุนเวียน เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว หรือ การพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าแบบกริดอัจฉริยะ (Smart Grid) เช่น สถานีไฟฟ้า โรงเก็บพลังงานไฟฟ้า (Grid Energy Storage) หรือศูนย์ควบคุมสั่งการระบบกริดอัจฉริยะ เป็นต้น และ
- การพัฒนากำลังคนในปัจจุบันให้มีทักษะรองรับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น ด้วยการจัดการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานด้านระบบไฟฟ้าแบบกริดอัจฉริยะ การวางแผนกำลังการผลิตพลังงานในระบบผสมผสานพลังงานหมุนเวียน การออกแบบดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่จะมีความต้องการสูงมากในอนาคต
| การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
หากมองในมุมมองของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นหนึ่งใน SDGs ใน เป้าหมายที่ 7 ที่ระบุว่า “สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่หาซื้อได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน”
ในกรณีของประเทศไทย การเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ เช่น พลังงานไฟฟ้านั้น คงไม่ใช่ปัญหา เพราะปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2562) ครัวเรือนไทยเข้าถึงไฟฟ้าแล้วร้อยละ 99.8 นอกจากนี้ ในแง่ราคาที่หาซื้อได้ ก็จะมีกลไกในการกำกับดูแลราคาค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดังนั้น ความท้าทายสำคัญตามเป้าหมายนี้คือ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในพลังงานทั้งหมด (หรือ energy mix) และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน นั่นเอง
ในส่วนการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนการใช้พลังงานทั้งหมด ประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 24.8 ในปี พ.ศ. 2573 โดยตอนนี้ในปี พ.ศ. 2563 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 15.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.9 ในปี พ.ศ. 2559 แต่ลดลงจากร้อยละ 16.5 ในปี พ.ศ. 2562 เพราะฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุง/พัฒนาแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ที่มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในส่วนของประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2563) ประเทศไทยมีความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (หรือ energy intensity) อยู่ที่ 7.53 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาท ซึ่งดีขึ้นจากปี พ.ศ. 2559 ที่มีความเข้มข้นของการใช้พลังงานอยู่ที่ 8.12 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาท แต่ก็ยังห่างจากเป้าหมายในปี พ.ศ. 2573 ที่ 6.64 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาท อยู่อีกพอสมควร
นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเทคนิคเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีดังกล่าวยังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน ในระบบและกลไกการตลาด และในโครงสร้างพื้นฐานด้วย ในอนาคต การจัดการพลังงานจะมีลักษณะที่เป็นทั้ง “ผู้ผลิต-ผู้บริโภคในตัวเอง” (หรือ prosumer) มากขึ้น ดังนั้น กลไกทางสถาบันเช่น กติกาในการจัดตั้ง การผลิต และการซื้อขายพลังงาน จะต้องพัฒนาเพื่อรองรับในประเด็นนี้ด้วย
| การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในฐานะการจ้างงาน
มุมมองในด้านพลังงานที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้านหนึ่งคือ การเชื่อมโยงกับการจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ เพราะการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีลักษณะกระจายศูนย์ จะมีส่วนสำคัญในการจ้างงานที่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง
การศึกษาเรื่องการจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย พบว่า เมื่อเปรียบเทียบ อัตราการจ้างงานโดยตรงคิดเป็นตำแหน่งงานต่อการผลิตไฟฟ้าหนึ่งล้านหน่วย (หรือ 1 GWh) พบว่า ก๊าซชีวภาพและพลังงานชีวมวลจะมีอัตราการจ้างงานโดยตรงสูงสุดที่ 1.272 และ 0.871 ตำแหน่งงานต่อการผลิตไฟฟ้าหนึ่งล้านหน่วยต่อปี ตามมาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอัตราการจ้างงาน 0.766 ตำแหน่งงานต่อการผลิตไฟฟ้าหนึ่งล้านหน่วยต่อปี และพลังงานลม 0.262 ตำแหน่งงานต่อการผลิตไฟฟ้าหนึ่งล้านหน่วยต่อปี ซึ่งสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งมีอัตราการจ้างงานโดยตรง 0.094 ตำแหน่งงานต่อการผลิตไฟฟ้าหนึ่งล้านหน่วยต่อปี ทั้งสิ้น
การจ้างงานโดยตรงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของไทยในปี พ.ศ. 2559 จะมีประมาณ 17,758 ตำแหน่งงาน และหากสามารถพัฒนากำลังการผลิตติดตั้งในโครงการพลังงานหมุนเวียนได้ครบถ้วนตามแผนที่มีในเวลานั้น จะพบว่า การจ้างงานโดยตรงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 27,415 ตำแหน่งงาน หรือเพิ่มขึ้นอีก 9,657 ตำแหน่งงานเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจนครบถ้วน 100% ในปี พ.ศ. 2593 การจ้างงานโดยตรงของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2593 จะเท่ากับ 172,164 ตำแหน่งงาน (เฉลี่ยตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นปีละ 4,670 ตำแหน่งงาน/ปี) โดยแบ่งเป็นพลังงานชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดที่ 77,964 และ 76,620 ตำแหน่งงานตามลำดับ รองลงมาคือ พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ ตามลำดับ
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับตำแหน่งงานที่จะสูญเสียไปจากการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว จะเห็นได้ว่า การสร้างงานจากพลังงานหมุนเวียน (เกือบ 5,000 ตำแหน่งงานในแต่ละปี ต่อเนื่องถึง 30 ปี หรือรวมทั้งหมดมากกว่า 170,000 ตำแหน่งงาน) จะมีปริมาณมากกว่าแรงงานที่ถูกปลดระวางจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอย่างมาก (รวมทั้งหมดแล้วสูญเสียงานประมาณ 3,000-6,000 ตำแหน่งงาน)
เมื่อพิจารณาในกรอบงานที่มีคุณค่า (decent work) พบว่า งานการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นงานที่มีผลตอบแทนดีพอสมควร และมีความมั่นคงในการทำงานดีพอสมควร แต่จำเป็นจะต้องระมัดระวังเรื่อง สภาพแวดล้อมในการทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย และออกแบบระบบส่งเสริมความก้าวหน้าในการทำงาน เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานที่มีคุณค่าในทุกมิติ
นอกเหนือจากการจ้างงานในประเทศไทย การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจนครบถ้วน 100% ใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงยังมีส่วนทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงในปี พ.ศ. 2593 ถึงประมาณ 306,704 ตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเป็นตลาดงานและตลาดแรงงานสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานชาวไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการชาวไทยจะได้รับโอกาสในการขยายงานด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ก่อนที่จะขยายการให้บริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต
| การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกเหนือจากการตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ การจ้างงานแล้ว พลังงานหมุนเวียนยังสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาด้านสังคม เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การให้บริการสาธารณะ เป็นต้น
แม้ว่า ปัจจุบัน ครัวเรือนเกือบทั้งหมดของประเทศไทยจะเข้าถึงไฟฟ้าแล้ว แต่เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน รัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมาจึงมีการให้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นระยะ ๆ แต่ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนจากเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า มาเป็นการลงทุนติดตั้งแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์ขนาดครัวเรือนละ 1.5 กิโลวัตต์ ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุน 60,000 บาทต่อหลัง โดยจะติดตั้งได้ 1,000,000 ล้านครัวเรือนในระยะเวลา 3 ปี แต่ละครัวเรือนที่ได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองประมาณ 225 หน่วยต่อเดือน ช่วยลดรายจ่ายและ/หรือเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ประมาณ 855 บาท/เดือน เกือบเท่ากับหนึ่งในสามของเส้นความยากจน (Poverty Line) เลยทีเดียว
ในภาพรวมทั้งประเทศ มาตรการนี้จะทำให้ได้กำลังการผลิตติดตั้งในระบบ 1,500 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกัน 60,000 ล้านบาท และช่วยให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด 10,403 ล้านบาทต่อปี สามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 5.77 ปี
เช่นเดียวกับโรงพยาบาล หากรัฐบาลดำเนินมาตรการแบบเดียวกัน ด้วยการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาสำหรับโรงพยาบาล โดยแยกตามขนาดของโรงพยาบาล
- ระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 500 กิโลวัตต์ สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวนประมาณ 100 แห่ง จะช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 3.47 ล้านบาท/แห่ง
- ระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 100 กิโลวัตต์ สำหรับโรงพยาบาลอำเภอ จำนวนประมาณ 800 แห่ง จะช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 693,500 บาท/แห่ง
- ระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 30 กิโลวัตต์ สำหรับโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล จำนวนประมาณ 7,250 แห่ง จะช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 208,050 ล้านบาท/แห่ง
มาตรการนี้จะช่วยให้โรงพยาบาล 8,150 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้น 348 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกัน 10,245 ล้านบาท และช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดงบประมาณได้ทั้งหมด 2,410 ล้านบาท/ปี หรือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 5 ปี ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้ โรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาบริการสุขภาพให้กับประชาชนได้อีกมาก
| สรุป
หากมองจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นมาตรการที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเมื่อมองจากมุมของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนก็เป็นโอกาสสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคงทางพลังงาน การจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
เพราะฉะนั้น แทนที่รัฐบาลจะเลือกกำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบที่ “ยังไม่จำเป็นต้อง” ทำอะไร ? รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วที่สุด และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้เร็วและทั่วถึงที่สุด เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนเป็นฐานที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 14 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564
ประเด็น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ในบทความนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 การเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้ ทั้งในด้านการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน (7.2) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (7.3) และการเปลี่ยนมาใช้พลังงงานทดแทนนั้น ยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2) เพื่อต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน #SDG13 และยังได้กล่าวถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีคุณค่า #SDG8 ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในแง่ของการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน (8.5) และข้อคำนึงถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง (8.8)
นอกจากนี้ ยังได้แตะไปถึงประเด็นการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานด้านพลังงาน (1.4) เพื่อยุติความยากจนตาม #SDG1 และประเด็นด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี #SDG3 เพราะสามารถลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศได้ (3.9)
เอกสารอ้างอิง
ธารา บัวคำศรี, 2564. Net Zero Emissions: ถอดรหัสถ้อยแถลงของรัฐบาลไทยที่ COP26 กลาสโกว์. The Standard https://thestandard.co/key-messages-glasgow-climate-pact-cop26/
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564. รายงานความก้าวหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563. https://sdgs.nesdc.go.th/รายงานความก้าวหน้า-sdgs-ของ/
Greenpeace Thailand, 2564, ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2021/10/bc8ee487-greenpeace-coal-phase-out-for-web.pdf
Greenpeace Thailand, 2563. ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย.https://www.greenpeace.org/thailand/publication/16988/climate-netmetering-solar-rooftop-revolution-a-green-and-just-recovery-for-thailand-2021-2023/
Greenpeace Thailand, 2561. การจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย, https://www.greenpeace.org/thailand/publication/3134/renewable-energy-job-creation-in-thailand/