ทั่วทั้งโลก มีผู้หญิง 433 ล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหรือเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) เมื่อเทียบกับจำนวนผู้หญิงที่ใช้อินเตอร์เน็ตแล้ว พบว่าจำนวนผู้ชายที่ใช้อินเตอร์เน็ตมีมากกว่า 250 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผู้หญิงเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือน้อยกว่าผู้ชายคิดเป็นราวน้อยกว่า 165 ล้านคน จะเห็นได้ว่านอกจากประเด็นด้านเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจะเชื่อมโอกาสในยุคสมัยใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศด้วย
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของ Mastercard Index ภูมิภาคแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตในด้านเทคโนโลยี โดยมีจำนวนผู้ประกอบการหญิงสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศบอตสวานา ซึ่งมีจำนวนผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าของกิจการมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศอูกันดา อันดับที่ได้มานี้ ยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2562 เป็น 38.5% ในปี 2563 ไม่เพียงด้านความเป็นผู้ประกอบการเท่านั้น แต่การเป็นผู้ประกอบการหญิงที่มีเครื่องมือ/ความรู้ทางดิจิทัล ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศบอตสวานา
เพื่อให้ฟื้นกลับหรือพัฒนาต่อในยุคหลังโควิด-19 สองปัจจัยประกอบกันทั้งธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำเสนอทางแก้ปัญหาทางดิจิทัล กับนโยบายภายในประเทศที่ตระหนักถึงประเด็นความละเอียดอ่อนทางเพศ (gender-sensitive) เช่นที่ยุทธศาสตร์ของสหภาพแอฟริกาก็มีที่ว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง (The African Union’s Strategy for Gender Equality and Women’s Empowerment) เป็นส่วนที่สำคัญที่จะปิดช่องว่างของ ‘ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ’ ในระหว่างกระบวนการ
โดยจะต้องใช้เครื่องมืออย่างการส่งเสริมทักษะความรู้ทางดิจิทัล (digital literacy) โครงการลงทุน/สนับสนุนทางการเงินที่มีเป้าหมายชัดเจน และความร่วมมือทางดิจิทัล (digital cooperation) เข้ามาเสริมแรง
ประการแรก เนื่องจากหากประเมินทักษะทางดิจิทัลของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในเมืองและชนบท ตามข้อมูลของ Agang Ditlhogo นักกิจกรรมทางสิทธิดิจิทัลในบอตสวานา พบว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ โดยการส่งเสริมทักษะความรู้ทางดิจิทัลตั้งแต่วัยเยาว์จะช่วยกรุยทางความสามารถในการใช้เครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อพัฒนากิจการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ผู้หญิงเป็นผู้ประกอบการได้
ประการที่สอง คือ แม้จะมีจำนวนผู้ประกอบการหญิงเพิ่มมากขึ้นตามที่กล่าวมานี้ แต่ยังมีความท้าทายด้านทุนที่จะใช้เริ่มต้น หรือขยายกิจการ หรือคงไว้ซึ่งกิจการนั้น ซึ่งมีนัยสำคัญหากเปรียบเทียบผลประกอบการในระยะสั้นและระยะยาวกับผู้ประกอบการชาย ทำให้นอกจากการรับการสนับสนุนโดยธนาคาร อาทิ African Development Bank’s Gender Equality Trust Fund ที่มีเป้าหมายสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว การที่นักลงทุนภาคเอกชนเล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามาร่วมสนับสนุนเช่นกัน ก็ถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมจำนวนผู้ประกอบการหญิงให้เติบโตขึ้นต่อไป
และสุดท้ายประการที่สาม ความร่วมมือทางดิจิทัลทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับบริษัทจะเป็นเกราะป้องกันประเด็นปัญหาที่มาพร้อมกับ ‘การแบ่งแยกทางดิจิทัล’ และ ‘ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ’ ความร่วมมือทางดิจิทัลในระดับระหว่างประเทศคือการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติทางไซเบอร์ และการสร้างช่องทางหารือในประเด็นที่ดิจิทัลมีผลกระทบต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ความร่วมมือทางดิจิทัลในระดับบริษัท จะเป็นการสร้างหลักประกันของโซลูชันทางดิจิทัลและนวัตกรรม โดยที่หากทั้งรัฐและบริษัทมีความร่วมมือระหว่างกันด้วย ก็จะยิ่งเสริมพลังหุ้นส่วนการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา เพื่อเชื่อมช่องว่างของการเชื่อมต่อทางดิจิทัล (digital connectivity gap) และผลักดันให้ประเทศในแอฟริกา ‘เชื่อมต่อ’ ถึงสากลได้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
-(5.b) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมการให้อำนาจแก่ผู้หญิง
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และเทคโนโลยี
-(9.c) การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2563
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.8) ให้ธนาคารเทคโนโลยีและกลไกการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ทำงานได้อย่างเต็มที่ ภายในปี 2560 และเพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนที่สำคัญ (enabling technology) เฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
แหล่งที่มา:
How digital tech helps get Botswana’s female entrepreneurs back in business (World Economic Forum)
Last Updated on พฤศจิกายน 24, 2021