ตามข้อมูลของหัวหน้าหน่วยงานด้านการฟื้นฟูป่าพรุและป่าชายเลนของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูป่าชายเลนระยะยาวให้ได้รวมทั้งหมด 6,300 ตารางกิโลเมตร ภายในปี 2567 โดยในปี 2564 นี้ได้ปรับเป้าหมายลงจาก 830 ตารางกิโลเมตร เป็น 330 ตารางกิโลเมตร (และน่าจะทำสำเร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้) ขณะที่เป้าหมายรายปีต่อไป คือ ในปี 2565 ที่ 2,282 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่านี้เพื่อชดเชยเป้าหมายของปีนี้ และ 1,996.75 ตารางกิโลเมตร ในปี 2566 และอีก 1,426.25 ตารางกิโลเมตร ในปี 2567
ทำไมการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนสำหรับอินโดนีเซียจึงสำคัญ เพราะอินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าชายเลนคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของป่าชายเลนในโลก นอกจากความสำคัญในด้านระบบนิเวศ ยังรวมถึงเป็นแนวกั้นของชุมชนชายฝั่งต่อระดับน้ำทะเลหรือพายุ เป็นพื้นที่ทำการประมง และที่สำคัญยังเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนที่สามารถกักเก็บได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 4 เท่า
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลจากทั้งหน่วยงานและภาควิชาการของอินโดนีเซียระบุว่า พื้นที่ป่าชายเลนของอินโดนีเซียลดลงถึง 40% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ อันเป็นผลมาจากการตัดไม้และปรับพื้นที่เพื่อเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง ด้วยเหตุนี้ทำให้อินโดนีเซียต้องปรับวิธีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนโดยหันมาให้ความสำคัญและทำงานร่วมกันกับชุมชนชายฝั่งมากขึ้น กล่าวคือ ต้องเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไปพร้อมกับคงไว้ซึ่งโอกาสทางอาชีพสำหรับชุมชนและการเพิ่มสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากโควิด-19
หากแผนของอินโดนีเซียดังกล่าวประสบความสำเร็จ พื้นที่ป่าชายเลนจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 150 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นต้นทุนการลดการปล่อยคาร์บอน (abatement cost) ราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และหวังว่าพื้นที่ป่าชายเลนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของอินโดนีเซียในการค้าคาร์บอน (carbon trading)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ระบบนิเวศทางทะเล ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มuนัยสำคัญ
-(14.5) อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ภายในปี 2563
-(14.b) จัดให้มีการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาดสำหรับชาวประมงพื้นบ้านรายย่อย