บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ระดับโลกให้ความสนใจในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาปฏิชีวนะมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) แต่ยังคงไม่มีนโยบายที่มีประสิทธิภาพพอเพื่อทำให้แน่ใจว่าประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะที่จำเป็นได้ของโลก
มูลนิธิ Access to Medicine องค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการทำงานของอุตสาหกรรมยา เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ ‘Antimicrobial Resistance Benchmark 2021’ ทำการประเมินบริษัทยายักษ์ใหญ่ 17 แห่ง ที่ผลิตยาและวัคซีนปฏิชีวนะรวมกันทั้งหมด 801 ชนิด และมีฐานการผลิตถึง 1,057 แห่งทั่วโลก พบว่าในเภสัชภัณฑ์ทั้งหมด 166 รายการ มีเพียง 54 รายการเท่านั้นที่มีนโยบายการเข้าถึงยาที่จะทำให้ประเทศประเทศรายได้ปานกลางและกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ 102 ประเทศ สามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะที่จำเป็นเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
นโยบายที่สามารถช่วยเหลือประเทศยากจนให้เข้าถึงยาปฏิชีวนะได้ ได้แก่ การกำหนดราคาตามกลุ่มลูกค้า (tiered pricing) ข้อตกลงการให้ใบอนุญาตโดยสมัครใจเพื่อเพิ่มอุปทาน การผลิตในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือการบริจาค
ในแต่ละปี ผู้คนประมาณ 5.7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่สามารถรักษาได้ เนื่องจากขาดยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังมีภาระโรคติดเชื้อสูงสุดและมีอัตราการดื้อยาสูงที่สุดอีกด้วย
ผลตอบแทนจากการลงทุนผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่ไม่สู้ดีทำให้หลายบริษัทยุติการพัฒนายาปฏิชีวนะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจบริษัทยาทั้ง 17 แห่งพบว่า จำนวนโครงการพัฒนาและวิจัย (R&D) ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อราตัวใหม่เพิ่มขึ้นจาก 77 โครงการในปี 2020 เป็น 92 โครงการในปี 2021 แม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของภัยคุกคามจาก superbugs ที่ดื้อยาในปัจจุบันก็ตาม
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี - (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ - (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ตามปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) และการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลง TRIPS อย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า - (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
Last Updated on พฤศจิกายน 24, 2021