โครงการพัฒนาสร้างทางหลวงขนาดใหญ่แห่งที่ 2 ในบาหลีที่ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 กำลังถูกตั้งคำถาม เพราะนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมประเมินว่าถนนทางหลวงเส้นนี้จะกระทบกับแหล่งทำเกษตรกรรมที่สำคัญของเมือง กระทบต่อระบบชลประทานของเมืองที่ดำเนินมาหลายศตวรรษและขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมโดย UNESCO และยังขวางทางทางเดินน้ำหลายแห่งทางทิศตะวันตกของเกาะ ถือเป็นข้อห่วงกังวลของการพัฒนาที่อาจจะก่อความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่การอนุรักษ์ของบาหลี
แผนของการสร้างถนนทางหลวงประเภทที่เก็บค่าผ่านทาง (toll road) Gilimanuk-Mengwi ที่ต้องการเข้ามาช่วยลดปริมาณจราจรที่คับคั่ง ลดเวลาและเพิ่มความเร็วในการเดินทางภายในเกาะบาหลีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหมู่เกาะอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ซึ่งตามกำหนดการของแผนสร้างถนนทางหลวงดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ครอบคลุมพื้นที่ 96 กิโลเมตร จากฝากตะวันตกของบาหลี (Gilimanuk) เข้าสู่ใจกลางเมืองของบาหลี (Denpasar) ซึ่งอยู่ทางใต้ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณโดยภาคเอกชนที่ประมาณ 19.3 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือ 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนซึ่งมีความจำเป็นจะนำมาซึ่งการจ้างงานและความคาดหวังในการยกระดับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่มีข้อห่วงกังวลหลายประการจากทั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรและประชาชนผู้อยู่อาศัย โดยหลายคนปฏิเสธไม่ยอมรับค่าชดเชยที่รัฐบาลเสนอ (หากมีการเสนอ) เพื่อปกป้องผืนดินและที่ทำกินของตนที่ตกมารุ่นสู่รุ่น ที่หลายคนมองว่าเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกาะ
ความกังวลของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ระบุออกมาชัดเจนเป็นตัวเลข โดยมองว่าโครงการดังกล่าวจะกระทบพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ 4.81 ตารางกิโลเมตร รวมถึงพื้นที่ชลประทาน ‘subak’ 34 แห่งในพื้นที่ Jembrana 54 แห่งในพื้นที่ Tabanan 9 แห่งในพื้นที่ Badung และมองว่าโครงการดังกล่าวจะกระทบต่อทั้งพื้นที่ป่าของ Jembrana และบางส่วนของอุทยานแห่งชาติ West Bali National Park
ศาสตราจารย์ด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัย Udayana University ได้วิเคราะห์และยืนยันความกังวลที่ว่านี้ โดยระบุว่า นอกจากโครงการพัฒนาจะกระทบต่อวัฒนธรรมของเกาะแล้ว พื้นที่เกษตรกรรมโดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวอันเป็นเอกลักษณ์ของบาหลี ที่ได้รับผลกระทบ/ถูกเปลี่ยนเป็นถนน จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของบาหลี ปริมาณผลผลิตข้าวที่ได้ของเกาะจะลดลง และพื้นที่ชลประทาน/ทางเดินน้ำที่ได้รับผลกระทบจะส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงของเกาะต่อน้ำท่วมมากขึ้น เช่นเดียวกันกับความกังวลอื่น ๆ ที่มองว่า โครงการพัฒนาอาจจะส่งผลต่อสปีชีส์สิ่งมีชีวิตบนเกาะที่หลากหลายด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 1 ยุติความยากจน
-(1.4) สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
#SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และเทคโนโลยี
-(9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ
-(11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
-(11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบ ที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ
-(11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมืองและชนบท
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก ความหลากหลายทางชีวภาพ
-(15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินที่ยั่งยืน