พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม
ดู – ความยั่งยืนในชุดภายถ่าย วันนี้ขอเสนอชุดภาพถ่ายในชื่อ ‘Journey in the Death Boat’ โดยช่างภาพข่าวชาวตุรกี Güliz Vural ที่เดินทางข้ามทะเลอีเจียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปพร้อมกับชาวซีเรียที่ลักลอบเข้ากรีซอย่างผิดกฎหมายจากตุรกีเมื่อปี 2015
Güliz Vural จ่ายค่าเดินทางให้ผู้ลักลอบขนผู้ลี้ภัยถึง 2,000 ยูโร เพื่อที่จะได้บันทึกภาพถ่ายของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปี 2011 ทั้งหมดเกือบ 50 คนที่ยอมเสี่ยงชีวิตเบียดเสียดกันบนแพยางที่ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักผู้โดยสารเพียง 12 คนเท่านั้น โดยทุกคนมีเพียงเสื้อชูชีพหนึ่งตัวเพื่อรับรองความปลอดภัยเท่านั้น Vural ทำงานเก็บภาพตั้งแต่การเตรียมตัวบนชายหาดของอ่าวเมืองซีฟริซ (Sivrice) ประเทศตุรกี ที่ทุกคนต้องทิ้งทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดไว้ข้างหลัง ใบหน้าความหวาดกลัวของเด็กและผู้หญิง ความเงียบงันเกือบตลอดการเดินทาง 90 นาที ที่ไม่มีใครกล้าขยับตัวเพราะกลัวจะทำให้เรือเสียการทรงตัว ไปจนถึงภาพรอยยิ้มของผู้ลี้ภัยที่เดินทางถึงชายฝั่งของเกาะเลสบอส (Lesbos) ของประเทศกรีซโดยสวัสดิภาพ
การเดินทางครั้งนี้ของ Vural ทำให้เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของกรีซจับกุมด้วยข้อหาลักลอบคนขนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในขณะที่ผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ เดินทางไปยังแคมป์ผู้อพยพเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากติดต่อสถานทูตตุรกี ได้จดหมายยืนยันการเป็นนักข่าวจากต้นสังกัด และจ่ายเงินประกันตัวไป 3,000 ยูโร ทางการกรีซจึงปล่อยตัวเธอออกมาในอีกห้าวันให้หลัง
ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) รายงานว่ามีผู้อพยพอย่างน้อย 3,700 คนเสียชีวิตจากการพยายามเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปี 2015 ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่า 800 คนที่เสียชีวิตบนเส้นทางตุรกี-กรีซที่ Vural เดินทางในครั้งนี้ และตั้งแต่ปี 2014 มีข้อมูลผู้อพยพสูญหายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปแล้วกว่า 22,000 คน
ดูชุดภาพถ่าย ‘Journey in the Death Boat’ ทั้งหมดที่ www.gulizvural.com/journeyinthedeathboat
ที่มา :
‘A moment in history’: making a perilous sea-crossing with refugees – photo essay (The Guardian)
Last Updated on พฤศจิกายน 25, 2021