เชื้อโรคจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและการดื้อยาของเชื้อโรค เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งและต่อเนื่อง ต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ดั่งที่เราประสบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าโลกกำลังอยู่ใน ‘ยุคสมัยของโรคระบาด’ (age of pandemics) โดยวิธีการสำคัญอีกประการคือการเพิ่มศักยภาพในการป้องกัน
สัปดาห์นี้ การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly – WHA) สมัยพิเศษ จะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2564 (ตามเวลาเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) โดยใช้เป็นพื้นที่หารือระหว่างผู้แทนรัฐบาลในการพัฒนาอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก หรือพันธกรณี/ข้อตกลงในโลกว่าด้วยการเตรียมพร้อม (preparedness) และตอบสนอง (response) ต่อวิกฤติโรคระบาดในปัจจุบันและอนาคตอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะผลักดันให้เกิดความร่วมมือพหุภาคีจากหลายหน่วยงาน – ภาคส่วน – ระดับ การมีระบบ ‘ร่วมกัน’ ระดับโลก และการลงทุนกับระบบภายในประเทศเพื่อจัดการกับวิกฤติการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว กระทั่งให้แนวคิดการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อวิกฤติสาธารณสุขยกเป็น ‘วาระสำคัญ’ ของผู้นำประเทศในโลกด้วย
ทั้งนี้ เนื้อหาบางส่วนที่คาดว่าจะมีการหารือเพื่อจัดทำอนุสัญญาฯ สรุปโดยสังเขป มีดังนี้
- ความริเริ่มเพื่อจัดการกับโรคระบาด ผ่านพื้นที่ระดับโลกที่จะประสานความร่วมมืออย่างครอบคลุม ให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน
- การเข้าถึงยา วัคซีน และการวินิจฉัยโรคได้อย่างเสมอภาค ไม่ให้เกิดกรณีประเทศใดมีเอกสิทธิ์พิเศษในการเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีคุณภาพมากกว่า ขณะที่บางส่วนในโลกประสบกับภาวะขาดแคลน ในแง่นี้ หมายถึง 1) การกระตุ้นการผลิตยาและวัคซีนในโลกให้มากขึ้น 2) การทำให้ระบบกฎเกณฑ์ ตรวจสอบ และควบคุมมีความเข้มแข็ง และ 3) มีกลไกที่สนับสนุนการเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างเสมอภาค
- การแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยี และผลประโยชน์ เรื่องโรคไม่ติดต่อต้องมองเป็นประเด็นข้ามชายแดนและรับมือด้วยการแลกเปลี่ยนกันข้ามพรมแดน เพื่อให้ทุกที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นและเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่ากรอบอนุสัญญาฯ ดังกล่าวจะหมายรวมถึงข้อมูลเชื้อโรคและข้อมูลทางพันธุกรรม
- การเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของ ‘One Health’ ระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม และโลก เพื่อลดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) ในอนาคต โดยผสานแนวคิดดังกล่าวไว้ในระบบและการดำเนินงานระดับชาติ
นอกเหนือจากประเด็นทั้ง 4 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการหารือกันถึงการป้องกันและการสร้างระบบเตรียมพร้อมและตอบสนองระดับโลกดังกล่าว ที่จะต้องครอบคลุมพื้นที่ที่ ‘มีความอ่อนแอ ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและเปราะบาง’ (fragile, conflict affected, and vulnerable – FCV) ด้วย เพราะประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน โรคระบาดแต่เดิม และโรคระบาดในปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมข้อเสนอแนะการป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ที่เปราะบาง ที่นี่)
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly – WHA) เป็นเวทีสำหรับการตัดสินใจในกรอบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งตามปกติจะประชุมกันทุกเดือนพฤษภาคมในแต่ละปี โดยมีผู้แทนจากรัฐสมาชิกทั้ง 194 ประเทศเข้าร่วมเพื่อหารือกันถึงประเด็นและนโยบายที่ควรจัดอันดับให้ความสำคัญ การกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข และรายละเอียดของการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายและนโยบายดังกล่าว
ในปี 2564 เมื่อครั้งการประชุมในเดือนพฤษภาคมถือเป็นการประชุมครั้งที่ 74 โดยมีการหารือประเด็นสุขภาพมากกว่า 70 ประเด็น นอกเหนือจากการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อโควิด-19 แล้ว ยังหมายรวมถึง #SDG3 กำลังแรงงานภาคสาธารณสุข ความปลอดภัยทางชีวภาพในห้องทดลอง และความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– WHO จัดตั้ง ‘ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดระดับโลก’ ณ กรุงเบอร์ลิน หวังสกัดโรคระบาดในอนาคตได้รวดเร็วมากขึ้น
– EU ใช้งบกับ EU4Health Programme 2021 – 2027 มากกว่าที่ผ่านมาถึง 10 เท่า เตรียมพร้อมรับความท้าทายทางสุขภาพระดับภูมิภาคและระดับโลก
– รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด การเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นวิจัยและพัฒนาสำคัญของรัฐลำดับต้น
– ระบบเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินระดับชาติที่จัดการ ‘ภัยพิบัติธรรมชาติ’ พร้อมกับ ‘อันตรายทางชีวภาพ’ จะทำให้เอเชียแปซิฟิกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคระบาด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ภายในปี 2573
-(3.8) ในด้านการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
-(3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดย เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
แหล่งที่มา:
Special session of World Health Assembly 29 November 2021 – 1 December 2021 (WHO)
WHO and the WHA – an explainer (WHO)
The world must act now to be prepared for future health emergencies (bmj)
Preventing pandemics in the world’s most vulnerable settings (bmj)
Last Updated on พฤศจิกายน 29, 2021