นานาประเทศเริ่มจัดให้ประเด็นด้านสุขภาพของประชากรภายในประเทศมีความสำคัญลำดับต้น โดยมีมิติของการปกป้องประชากรจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรายงานการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ‘2021 WHO health and climate change global survey’ ระบุว่า มากกว่า 3 ใน 4 (77%) ของประเทศที่ทำการสำรวจ ได้พัฒนาหรือกำลังพัฒนาแผนและยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงกระนั้น การถ่ายระดับจากแผนสู่การปฏิบัติจริง อาทิ ระบบการแจ้งเตือนเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (health surveillance systems for climate-sensitive diseases) ยังประสบกับอุปสรรคสำคัญ หนึ่งคือเงินทุน สองคือทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งปัจจัยอื่นอย่างความร่วมมือข้ามสาขา เครื่องมือ เทคโนโลยี และการศึกษา/งานวิจัยที่ยังจำกัด
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถปกป้องสุขภาพของพลเมืองในประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ภาวะเช่นนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกลุ่มประชากรที่เปราะบางและมักเป็นผู้เสียประโยชน์ ได้แก่ ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ชุมชนที่ยากจน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและพลัดถิ่น ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้หญิงและเด็ก
ปัจจุบัน มีประเทศราว ๆ 85% ที่ได้รับหลักการด้านสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินงานหลักที่รับผิดชอบ ขณะที่มีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศราว 54% ที่ได้จัดตั้งกลไกประสานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ กลไกในลักษณะคณะกรรมาธิการ ที่ทำหน้าที่ในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยหลาย ๆ ประเทศยังผนวกประเด็นด้านสุขภาพในการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions – NDCs) โดยมีเพิ่มขึ้นจาก 70% ของ 184 NDCs ในปี 2562 เป็นเกือบ 94% ของ 142 NDCs ที่มีการทบทวนและอัปเดทใหม่ในช่วงปี 2563 – 2564 ขณะเดียวกัน ราว 2 ใน 3 (67%) ของประเทศที่รายงานของ WHO ได้ทำการสำรวจ ยังจัดทำการประเมินความเปราะบางทางสุขภาพและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
สำหรับการจัดตั้งระบบการแจ้งเตือนเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (health surveillance systems for climate-sensitive diseases) พบว่า มีประเทศน้อยกว่า 40% ที่ผนวกข้อมูลด้านอากาศและสภาพภูมิอากาศในระบบแจ้งเตือนทางสุขภาพ มีเพียง 1 ใน 3 ที่มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับโรคภัยที่เกี่ยวกับคลื่นความร้อน (33%) และอาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากอากาศรุนแรงสุดขั้ว (30%) แม้ว่าปัญหาทางสุขภาพทั้งสองประการกำลังเป็นที่ห่วงกังวลมากขึ้นในโลก ขณะที่ประเทศที่มีระบบดังกล่าวยังเน้นข้อมูลโรคที่เกี่ยวกับน้ำ อากาศ ทางเดินหายใจ และที่นำโดยพาหะ
โดยมีกระทรวงสาธารณสุขในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำและที่มีรายได้ต่ำอยู่จำนวนหนึ่ง (28%) ที่รับเงินทุนระหว่างประเทศสำหรับใช้สนับสนุนการดำเนินงานในประเด็นนี้ ในจุดนี้แสดงให้เห็นว่า เงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะขยายการดำเนินการดังกล่าวให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะประสบกับภาวะฉุกเฉินอย่างโควิด-19 ที่ทำให้ความพยายามแต่เดิมสะดุดลง
อย่างไรก็ตาม รายงานย้ำว่าการสนับสนุนสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของประชากร โดยความพยายามลดและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation and mitigation) หรือพูดในทางกลับกันคือผนวกรวมข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าด้านสุขภาพ รวมถึงการตระหนักถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ จะเป็นเครื่องมือประการสำคัญที่จะช่วยให้สามารถฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ได้
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด การเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นวิจัยและพัฒนาสำคัญของรัฐลำดับต้น
– 5 ข้อสังเกตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิง-เด็กหญิงเป็นพิเศษ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
-(3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา ความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
-(13.b) กลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
แหล่งที่มา:
Many countries are prioritizing health and climate change, but lack funds to take action (WHO)
Last Updated on พฤศจิกายน 30, 2021