SDG Recommends | 6 คู่มือผนวก “สิทธิเด็ก” ในการออกแบบกลยุทธ์และควบคุมการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม

อ่าน – ความยั่งยืนใน Toolkits วันนี้ ชวนอ่าน “แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเคารพและสนับสนุนสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ” สนับสนุนโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ใน 6 ตอนอย่างรวบรัด สำหรับภาคธุรกิจ ผู้ที่เกี่ยวข้อง/มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่สนใจ เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าสิทธิเด็กและภาคธุรกิจสัมพันธ์กันอย่างไร และภาคธุรกิจจะผนวกรวมมิติของสิทธิมนุษยชน อันหมายรวมถึงสิทธิเด็กเข้าไว้ในกระบวนการคิดและดำเนินงานได้อย่างไร เมื่อเด็กเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกลยุทธ์ สินค้าและบริการของภาคธุรกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เนื้อหาสรุปโดยรวบรัดใน 6 ตอน มีดังนี้

01 – เรื่องของเด็กกับการดำเนินธุรกิจ

เป็นความรู้เบื้องต้น 6 หน้า ช่วยปูพื้นความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเด็กกับสถานประกอบการ สินค้าและบริการอย่างง่าย ๆ

02 – เด็กเป็นเรื่องของทุกคน: คู่มือฉบับ 2.1

คู่มือที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligences) ขององค์กรโดยเน้นไปที่สิทธิเด็กกับหลักสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles: CRB) ภาคธุรกิจสามารถผสานแนวทางตามคู่มือนี้ในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ด้วย

03 – คู่มือการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์: การทำงานร่วมกันเพื่อเด็ก

คู่มือที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางวางแผนการพัฒนาของโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ “เพื่อเด็ก”

04 – การมีส่วนร่วมด้านสิทธิเด็กของผู้มีส่วนได้เสีย

คู่มือที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางทำความเข้าใจและหารือกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและสิทธิเด็ก เปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนการพัฒนานโยบายและดำเนินงานขององค์กร โดยการเปิดพื้นที่เช่นนี้ถือเป็นการตรวจสอบและประเมินผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชน เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความยั่งยืน

05 – นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว: คู่มือสำหรับภาคธุรกิจ

คู่มือที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร โดยการตระหนักถึงทรัพยากรมนุษย์และสิทธิแรงงาน ที่ในทางหนึ่งคือพ่อแม่และผู้ปกครองของเด็ก เพื่อเสริมผลประโยชน์และความต้องการของทั้งฝ่ายบริหารองค์กรและของแรงงานในระยะยาว

06 – คู่มือการปกป้องดูแลเด็กสำหรับภาคธุรกิจ

เล่มนี้มีหัวใจสำคัญที่การปกป้องดูแลเด็ก (Child Safeguarding) โดยภาคธุรกิจสามารถนำไปผสานอยู่ในนโยบาย การควบคุมการปฏิบัติงานไม่ให้เกิดความเสี่ยงหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาวะที่ดีของเด็ก อาทิ การทารุณกรรม การล่วงละเมิดทางร่างกายทางเพศและทางอารมณ์ ตลอดจนการรายงานพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก

แหล่งที่มา:
แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเคารพและสนับสนุนสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ (SET)

Last Updated on ธันวาคม 1, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น