การค้าเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการเกิดโรคไม่ติดต่อจากอาหาร

การค้าเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูประดับโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สัมพันธ์กับความเจ็บป่วยด้านสุขภาพที่เกิดจากอาหารที่พุ่งสูงขึ้น อาทิ โรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศหมู่เกาะในแถบแคริบเบียนและโอเชียเนีย

การค้าเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของประชากรโลก แนวโน้มนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

งานวิจัย ‘Global red and processed meat trade and non-communicable diseases’ ทำการศึกษาว่าการค้าเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปส่งผลต่อแนวโน้มของการเกิดโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากอาหารในแต่ละประเทศอย่างไร โดยใช้ข้อมูลการผลิตและการค้าเนื้อสัตว์จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ของ 154 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1993-2018 และคำนวณสัดส่วนกับข้อมูลการเสียชีวิตและการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) อันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารและก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งลำไส้ เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปในแต่ละประเทศ

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การค้าเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 148% จาก 10 เมตริกตันในปี 1993–1995 เป็นเกือบ 25 เมตริกตันในปี 2016–2018 และการเสียชีวิตที่เกิดจากอาหารและอัตราการสูญเสียปีสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับการค้าเนื้อสัตว์ของ 154 ประเทศเพิ่มขึ้นสามในสี่ระหว่างปี 1993-1995 และ 2016-2018

นักวิจัยยังได้คำนวณว่าการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก มีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิตคิดเป็น 10,898 รายในปี 2016–2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 75% จากตัวเลขสำหรับปี 1993-1995

ในระดับภูมิภาค ระหว่างปี 1993–2018 ประเทศเกาะในแคริบเบียนและโอเชียเนีย และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออกมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อโรคและการเสียชีวิตที่เกิดจากอาหารซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าเนื้อสัตว์ปริมาณสูง

งานวิจัยได้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการบูรณาการนโยบายด้านสุขภาพเข้ากับนโยบายการเกษตรและการค้าระหว่างประเทศผู้นำเข้าและส่งออกอย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบด้านลบที่จะเกิดต่อสุขภาพของประชาชนเนื่องจากจากการค้าขายเนื้อสัตว์

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573

ที่มา : Global rise in red and processed meat trade contributes to diet-related non-communicable disease (News-Medical)

Last Updated on ธันวาคม 1, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น