เป้าประสงค์ที่ 14.6 ที่กำหนดให้องค์การการค้าโลกทำหน้าที่หลักในการติดตามและกำชับกระบวนการยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนการทำประมง (fisheries subsidies) ในลักษณะอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดการทำประมงเกินขนาด/เกินขีดจำกัด (overfishing) และที่ก่อให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ถูกกำหนดเป้าหมายไว้ภายในปี 2563 กระนั้น ความพยายามของ WTO ที่ดำเนินมานานกว่า SDGs กำหนด กว่า 20 ปีจนถึงปี 2564 ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ทั้งความตั้งใจที่จะใช้เวทีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 เพื่อหารือบทสรุป กลับพบว่าการประชุมฯ จำต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางต่อโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุด จากเดิมที่มีกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงเป็นที่น่ากังวลว่ากระบวนการเจรจาที่ยังไม่เสร็จสิ้น ย่อมกระทบต่อสิทธิของชาวประมงรายย่อย – ชุมชนที่สัมพันธ์กับท้องทะเล รวมถึงจำนวนประชากรปลาที่จะมีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ย้ำถึงความสำคัญต่อรัฐสมาชิกว่า สุขภาวะของทะเลและมหาสมุทรเป็นหัวใจสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ชีวิตความเป็นอยู่ และโภชนาการที่ดีของคนทั่วโลกหลายพันล้านคน ทว่าตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่า มีการทำประมงเกินขนาด 34.2% ของจำนวนประชากรปลา ถือเป็นจำนวนที่มากขึ้น 3 เท่าจากข้อมูลในปี 2517 (10%) ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้เพราะ ‘การอุดหนุน’ การทำประมงในลักษณะอุตสาหกรรมโดยรัฐบาลเอง โดยคิดเป็นเงินมากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เงิน (ภาษี) เหล่านี้ถูกนำไปหนุนการทำประมงเกินขนาดและการประมง IUU ขณะที่ประชากรปลาลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับเงินอุดหนุนที่มีเพิ่มขึ้น และยังมีประเด็นความไม่เท่าเทียมของสัดส่วนที่ประเทศกำลังพัฒนาจับปลาได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
ส่วนข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ‘WTO Subsidies Elimination Agreement’ ยังอยู่ในโต๊ะเจรจาที่ยังไม่จบกระบวนการดี ทำให้สิทธิของชาวประมงรายย่อย ความเป็นอยู่และชุมชนที่สัมพันธ์กับท้องทะเลถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องโดยอุตสาหกรรมทำการประมงรายใหญ่ ซึ่งตามความเห็นของ Peter Thomson ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านมหาสมุทร มองว่า หากโลกสามารถยับยั้งการอุดหนุนการทำประมงในลักษณะดังกล่าวได้ จะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนประชากรปลา 12.5% หรือราว 35 ล้านเมตริกตัน ภายในปี 2593
การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO Ministerial Conference) ถือเป็นการประชุมระดับรัฐบาลที่สำคัญในการตัดสินใจประเด็นทางการค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่าและการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ด้านการค้าจาก 194 ประเทศ (คิดเป็นภาพแทนการค้าในโลก 98%) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งตามปกติแล้วจะจัดประชุมทุก 2 ปี แต่เมื่อเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 การประชุมครั้งที่ 12 นี้มีกำหนดเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว
ทั้งนี้ ตามวาระการหารือของการประชุมครั้งที่ 12 ประกอบด้วยประเด็น 1) วัคซีนและการกระจายวัคซีน ห่วงโซ่ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ 2) การอนุรักษ์จำนวนประชากรปลา (fish stocks) 3) การปฏิรูปการค้าทางเกษตรและอาหาร 3) ภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 4) การค้าบริการ 5) การค้าที่ยั่งยืน 6) การกระตุ้นการลงทุน 7) การค้าดิจิทัล 7) การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และ 8) การจัดการกับประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในการค้า
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ระบบนิเวศทางทะเล และทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.6) ยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนการประมงที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงเกินขีดจำกัด (overfishing) ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว ตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ควรเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก ภายในปี 2563
แหล่งที่มา:
Will WTO members act now to end harmful fisheries subsidies? (WEF)
What to expect from the next WTO Conference (WEF)
Twelfth WTO Ministerial Conference (WTO)
Last Updated on ธันวาคม 2, 2021