เป้าประสงค์ที่ 14.6 ที่กำหนดให้องค์การการค้าโลกทำหน้าที่หลักในการติดตามและกำชับกระบวนการยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนการทำประมง (fisheries subsidies) ในลักษณะอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดการทำประมงเกินขนาด/เกินขีดจำกัด (overfishing) และที่ก่อให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ถูกกำหนดเป้าหมายไว้ภายในปี 2563 กระนั้น ความพยายามของ WTO ที่ดำเนินมานานกว่า SDGs กำหนด กว่า 20 ปีจนถึงปี 2564 ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ทั้งความตั้งใจที่จะใช้เวทีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 เพื่อหารือบทสรุป กลับพบว่าการประชุมฯ จำต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางต่อโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุด จากเดิมที่มีกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงเป็นที่น่ากังวลว่ากระบวนการเจรจาที่ยังไม่เสร็จสิ้น ย่อมกระทบต่อสิทธิของชาวประมงรายย่อย – ชุมชนที่สัมพันธ์กับท้องทะเล รวมถึงจำนวนประชากรปลาที่จะมีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ย้ำถึงความสำคัญต่อรัฐสมาชิกว่า สุขภาวะของทะเลและมหาสมุทรเป็นหัวใจสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ชีวิตความเป็นอยู่ และโภชนาการที่ดีของคนทั่วโลกหลายพันล้านคน ทว่าตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่า มีการทำประมงเกินขนาด 34.2% ของจำนวนประชากรปลา ถือเป็นจำนวนที่มากขึ้น 3 เท่าจากข้อมูลในปี 2517 (10%) ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้เพราะ ‘การอุดหนุน’ การทำประมงในลักษณะอุตสาหกรรมโดยรัฐบาลเอง โดยคิดเป็นเงินมากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เงิน (ภาษี) เหล่านี้ถูกนำไปหนุนการทำประมงเกินขนาดและการประมง IUU ขณะที่ประชากรปลาลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับเงินอุดหนุนที่มีเพิ่มขึ้น และยังมีประเด็นความไม่เท่าเทียมของสัดส่วนที่ประเทศกำลังพัฒนาจับปลาได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
ส่วนข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ‘WTO Subsidies Elimination Agreement’ ยังอยู่ในโต๊ะเจรจาที่ยังไม่จบกระบวนการดี ทำให้สิทธิของชาวประมงรายย่อย ความเป็นอยู่และชุมชนที่สัมพันธ์กับท้องทะเลถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องโดยอุตสาหกรรมทำการประมงรายใหญ่ ซึ่งตามความเห็นของ Peter Thomson ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านมหาสมุทร มองว่า หากโลกสามารถยับยั้งการอุดหนุนการทำประมงในลักษณะดังกล่าวได้ จะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนประชากรปลา 12.5% หรือราว 35 ล้านเมตริกตัน ภายในปี 2593
การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO Ministerial Conference) ถือเป็นการประชุมระดับรัฐบาลที่สำคัญในการตัดสินใจประเด็นทางการค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่าและการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ด้านการค้าจาก 194 ประเทศ (คิดเป็นภาพแทนการค้าในโลก 98%) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งตามปกติแล้วจะจัดประชุมทุก 2 ปี แต่เมื่อเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 การประชุมครั้งที่ 12 นี้มีกำหนดเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว
ทั้งนี้ ตามวาระการหารือของการประชุมครั้งที่ 12 ประกอบด้วยประเด็น 1) วัคซีนและการกระจายวัคซีน ห่วงโซ่ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ 2) การอนุรักษ์จำนวนประชากรปลา (fish stocks) 3) การปฏิรูปการค้าทางเกษตรและอาหาร 3) ภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 4) การค้าบริการ 5) การค้าที่ยั่งยืน 6) การกระตุ้นการลงทุน 7) การค้าดิจิทัล 7) การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และ 8) การจัดการกับประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในการค้า
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ระบบนิเวศทางทะเล และทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.6) ยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนการประมงที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงเกินขีดจำกัด (overfishing) ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว ตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ควรเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก ภายในปี 2563
แหล่งที่มา:
Will WTO members act now to end harmful fisheries subsidies? (WEF)
What to expect from the next WTO Conference (WEF)
Twelfth WTO Ministerial Conference (WTO)