SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย (Thailand Social Development Forum) ที่ตัวแทนจากภาครัฐ การเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนในประเด็น “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้งาน ‘Good Society Summit 2021’ ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสร้างสังคมดี Good Society เพื่อร่วมกันคิดและออกแบบทิศทางบทบาทของชุมชนในการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยแบ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนออกเป็น 2 ส่วน

อ่านคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง


01 สรุป 5 ประเด็นความเหลื่อมล้ำในชุมชน |

คุณนันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่าย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้นำเสนอประเด็นที่ได้มีการสรุปจากการทำ Workshop ตลอดสองครั้งของภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การปลูกต้นไม้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน 2) ระบบสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3) สิทธิการอยู่อาศัยและการพัฒนาของคนจนเมือง 4) การสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากชุมชนท้องถิ่น และ 5) การแก้ไขปัญหานี้สินระดับบุคคล และครัวเรือน เพื่อสะท้อนปัญหา เป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหา ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ และการผสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน

เศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) เป็นคำที่ใช้อธิบายระบบเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมไปถึงการผลิต การกระจาย ระบบตลาด การบริโภค ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจในระบบหรือนอกระบบ แต่ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจฐานราก ส่วนใหญ่มักจะเป็นการฉายภาพถึงความสัมพันธ์ของทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของพื้นที่ ในฐานะเป็นทุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ การกล่าวถึงการท่องเที่ยวชุมชน รวมไปถึงการมีระบบเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาทุนต่าง ๆ ภายในชุมชนหรือพื้นที่ได้ด้วยตนเอง [ที่มา: Defining Local Economies: Implications For Community Development And Social Capital]

ดูเอกสารประกอบการสรุป 5 ประเด็นความเหลื่อมล้ำในชุมชน


02 การเสวนาในหัวข้อ “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ |

ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีวิทยากร ซึ่งเป็นตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของการกำหนดบทบาทชองชุมชนท้องถิ่นเพื่อพึ่งพาตนเองในการลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.วันฉัตร – แนวทางที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคชุมชน

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนภาคนโยบาย กล่าวถึงรายละเอียดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ว่าจะเป็นแผนพัฒนาที่สามารถเสริมพลังให้ภาคชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และในทางกลับกัน การขับเคลื่อนของชุมชนก็สามารถมีส่วนร่วมอย่างยิ่งให้การพัฒนาประเทศเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ได้ เพราะมีความสอดคล้องและเสริมแรงกันในหลายหมุดหมาย อาทิ การเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงในชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และการจัดการป่าชุมชน โดย ดร.วันฉัตรได้สนับสนุนและเน้นย้ำให้ทุกชุมชนทั่วประเทศที่มีศักยภาพ “ลงมือทำได้เลย” โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐที่อาจไม่รวดเร็วพอ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ยังคงเกิดขึ้นแม้ชุมชนจะเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยตนเอง คือ บทบาทการทำงานของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการขยายผลการดำเนินการของชุมชนจัดการตนเองได้เหล่านั้น โดยที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ มิใช่แนวทางแบบ one size fits all ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนขยายผลไปสู่ทุกพื้นที่ได้นั้น คือ การจัดการความรู้ ด้วยการถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวของการดำเนินงานในแต่ละชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลในทุกภาคส่วนนำไปใช้และขยายผลต่อ และจำเป็นต้องมีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทุกคนในชุมชนร่วมกัน เพื่อให้สามารถกลายเป็นผู้ลงมือทำและสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งได้


ภาพความเชื่อมโยง 13 หมุดหมายในกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

อ่านบทความเกี่ยวกับแผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 13 เพิ่มเติม
SDG Updates | โค้งสุดท้ายก่อน 2030: แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน? – SDG Move

ดร. กอบศักดิ์ – นโยบายการเงินของไทยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความคิดเห็นต่อภาคการเงินของประเทศไทยที่จะเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง โดยเริ่มต้นชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ภาระหนี้สินนอกระบบและการสูญเสียพื้นที่ทำกินของประชาชนในชนบท และข้อจำกัดที่นโยบายทางการเงินจากส่วนกลาง หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ท้องถิ่นได้ ดังนั้น นโยบายการเงินฐานรากจะช่วยสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและขจัดความยากจนได้ การสร้างสถาบันทางการเงินในชุมชน เช่น สัจจะออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้านที่เกิดขึ้นแล้วเป็นกลไกที่เข้าถึงและเข้าใจบริบทเฉพาะของพื้นที่ได้มากกว่าเพราะมีการทำธุรกรรม เช่น การปล่อยสินเชื่อและการติดตามหนี้ที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนเป็นเงื่อนไข แต่อุปสรรค คือ ข้อจำกัดทางกฎหมายในการจัดตั้งสถาบันทางการเงินในท้องถิ่น ดร.กอบศักดิ์ เสนอให้มีการพลิกโจทย์ให้ภาครัฐกำหนด “กฎหมายเพื่อคนตัวเล็ก” ที่เห็นประชาชนเป็นหลัก และในการทำงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนนั้น ไม่จำเป็นที่จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการเท่านั้น จำเป็นที่จะต้อง “จัดกระบวนทัพให้ถูก” ตามศักยภาพและบทบาทของแต่ละภาคส่วนอย่างเหมาะสม อาทิ ภาครัฐ มีอำนาจในการปลดล็อกข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ภาคเอกชน มีศักยภาพในการสนับสนุนความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดให้ชุมชน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ภาคชุมชนมีความสามารถที่จะสร้างและดำเนินการการขับเคลื่อนโดยมีชุมชนเองเป็นฐานต่อไปได้

อ่านบทความเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มเติม
เปิดรายงานภาวะสังคมไทยตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรกับเราในสายตานักเศรษฐศาสตร์การเมือง – SDG Move

คุณปริม – ชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของภาคธุรกิจ

คุณปริม จิตจรุงพร ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce – YEC) หอการค้าไทย เล่าถึงการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains)  ผ่านโครงการของหอการค้าไทยในด้านการท่องเที่ยว ‘1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน’ ส่งเสริมชุมชนหลายแห่งให้เข้มแข็งขึ้นจากฐานราก จากการสร้างเครือข่ายเยาวชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ เพราะเยาวชนสามารถช่วยเสริมองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้ใหญ่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ การตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืน เข้าใจจุดแข็ง – เอกลักษณ์  บริบทความต้องการของชุมชนนั้นเป็นอย่างดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ซึ่งเป็นมุมมองที่จำเป็นต่อการผลักดัน ‘แพ็กเก็จของดี’ ของชุมชนออกสู่ตลาดได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น ให้ ‘นักท่องเที่ยวอยู่ดีกินดี และคนในชุมชนอยู่ดีกินดีด้วย’ นอกจากนี้ คุณปริมได้แลกเปลี่ยนบทเรียนจากโครงการด้านการเกษตร ‘1 ไร่ 1 แสน’ ที่ปัจจุบันขยับขยายเป็น ‘1 ไร่ 1 ล้าน’ โดยย้ำถึงต้นทุนการผลิตและความคุ้มค่าของผลผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนปลายทางของการขาย ที่จะต้องพัฒนาและหมั่นประเมินให้สินค้ามีมาตรฐาน มีความเป็นธรรม และหาตลาดเพื่อต่อยอดได้ ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองกรณีการศึกษาถือเป็นการลงมือทำที่สร้างโอกาสให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการตนเอง เมื่อชุมชน/จังหวัดลงมือทำอย่างต่อเนื่องจนมีความเข้มแข็งประกอบกันเป็นภาพใหญ่ เมื่อนั้นความเข้มแข็งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลง

อ่านบทความเกี่ยวกับตัวอย่างการลงมือทำของชุมชน
ชาวประมงรายย่อยใช้แอปพลิเคชัน และ AI เพื่อรับมือ Climate Change ที่คุกคามวิถีชีวิตประมงชายฝั่ง – SDG Move

คุณจินดา – บทบาทของชุมชนในการจัดการตนเอง และการยกระดับความเข้มแข็งของชุมชน

คุณจินดา บุญจันทร์ ผู้แทนคณะประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของชุมชนในการจัดการตนเองและการยกระดับความเข้มแข็งของชุมชน โดยย้ำว่าสังคมจำต้องปรับกระบวนทัศน์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ ‘ชุมชนฐานรากที่เข้มแข็ง’ ในการจะส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งได้ จะต้องสนับสนุนให้ชุมชนซึ่งมีความหลากหลายทางภูมิปัญญา – วัฒนธรรม และองค์ความรู้ในพื้นที่ มี ‘อำนาจ’ เป็นผู้วางแผนพัฒนาพื้นที่และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองโดยไม่ถูกกระทำจากนโยบายและแผนของภาครัฐ รวมถึงชุมชนจะต้องสามารถสร้างภาคีการพัฒนาด้วยตนเองได้ และอาศัยเสียงของภาคีการพัฒนาช่วยถ่ายทอดความต้องการของชุมชนให้สังคมได้รับรู้กว้างขวางขึ้น ขณะเดียวกัน คุณจินดาเน้นว่าสังคมควรแก้ปัญหาที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม โดยตระหนักถึงความท้าทายที่ชุมชนเผชิญทั้งในมิติของประชากรศาสตร์ที่วัยแรงงานย้ายไปทำงานในพื้นที่/เขตเศรษฐกิจจนทำให้ในพื้นที่ชุมชนมีประชากรวัยเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า ปัญหาคุณภาพ – ราคาของผลผลิตทางการเกษตรและความไม่มั่นคงทางอาหาร ตลอดจนประเด็นที่ดินทำกินและทรัพยากรในพื้นที่ ไปจนถึงความท้าทายอย่างนโยบายภาครัฐและความขัดกันเองของกฎหมายภายในประเทศ ที่ส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อความพยายามสร้างโอกาสพัฒนาพื้นที่ชุมชนเสียเอง หากชุมชนได้รับการสนับสนุนยกระดับให้มีความเข้มแข็งดั่งที่ว่ามานี้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศในภาพรวมไปในทิศทางที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำได้

อ่านบทความที่เกี่ยวกับความสำคัญของชุมชนในพื้นที่ต่อการพัฒนา
Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน – SDG Move


จะเห็นได้ว่า “ชุมชน” ถูกให้ความสำคัญในฐานะผู้มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนการพัฒนา และการลดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ ด้วยศักยภาพของการระบุปัญหาที่เกิดขึ้น การมีทุนทางสังคม และวัฒนธรรมที่เฉพาะตัว ในการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ แต่ด้วยโครงสร้างทั้งในเชิงกฎหมาย และนโยบายของรัฐ ซึ่งไม่เอื้อต่อการให้ชุมชนมี “อำนาจ” ในการบริหารจัดการตนเอง ชุมชนต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายที่นอกจากจะไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาระดับฐานรากแล้ว ยังอาจจะสร้างผลกระทบให้เกิดกับพื้นที่ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนบทบาทของรัฐส่วนกลาง ด้วยการกระจายอำนาจ ปลดล็อกข้อกฎหมายซึ่งจะเอื้อต่อการดึงศักยภาพของชุมชน ให้ชุมชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง จะช่วยปูทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

ทั้งนี้ SDG Move ต้องขอบคุณ Good Society Summit 2021 ที่ให้โอกาสในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับฐานราก ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ร่วมหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประสานเป็นภาคีเพื่อสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมต่อไป


ติดตามข้อมูลและข่าวสารในประเด็นอื่น ๆ ของงาน Good Society Summit 2021

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.1) ขจัดความยากจนรุนแรงทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.25 ต่อวัน
– (1.2) ลดสัดส่วนชาย หญิง และ เด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ (ตามนิยามของแต่ละประเทศ) ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573
– (1.3) ดำเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน

#SDG2 ยุติความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบางอันรวมถึงทารกได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของหญิงวัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568
– (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของ ผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คน พื้นเมือง เกษตรกรแบบ ครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึง ที่ดินและทรัพยากรและ ปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้าง งานนอกฟาร์ม อย่าง ปลอดภัยและเท่าเทียมภายในปี 2573

#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้นผ่านการทำให้หลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเข้มข้น
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่มีผลิตภาพ การสร้างงาน ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมและส่งเสริมการเกิด และการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย รวมถึงการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง

#SDG10 การลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์รวมถึงโดยการขจัดกฎหมายนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติและส่งเสริมการออกกฎหมายนโยบายและการกระทำทีเหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.4) เลือกใช้นโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

#SDG11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงปลอดภัยและในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัดภายในปี 2573
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับชาติและระดับภูมิภาค

#SDG15 การอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศและแหล่งน้ำบนบกและถิ่นที่อยู่อาศัย
– (15.1) การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลก ภายในปี 2563
– (15.9) บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปสู่การวางแผนกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์การลดความยากจนและบัญชีทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายในปี 2563

#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผลมีความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะ มีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม โดยสร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น