193 ประเทศสมาชิกองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ลงนามรับรอง “ข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์” ฉบับแรกในประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกทั้งหมดรับรอง “Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence” หรือ “ข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์” ที่จะมากำหนดกรอบการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างมีความรับผิดชอบ และมีการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรมเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
องค์การยูเนสโกระบุว่า AI จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลและภาคเอกชน ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหิวโหย แต่ก็อาจนำมาซึ่งความท้าทายทางจริยธรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากศักยภาพของอัลกอริทึม AI ในการสร้างอคติทางเพศ เชื้อชาติ และอายุ ทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่รุนแรงยิ่งขึ้น
มาตรการทั้งหมด 141 มาตรการในเอกสารนี้ร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดทิศทางการประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบ ให้คำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ช่วยจัดการประเด็นด้านความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยบทนโยบายที่มุ่มเน้นไปที่การดำเนินการเรื่องการกำกับดูแลข้อมูล (data governance) การศึกษา วัฒนธรรม แรงงาน การดูแลสุขภาพ และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ข้อแนะนำฉบับนี้ยังระบุการห้ามใช้ระบบ AI เพื่อให้คะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม (social scoring) และการสอดแนมในวงกว้าง (mass surveillance) อย่างชัดเจน
AI มีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนและช่วยในการตัดสินใจระดับภาครัฐหรือภาคเอกชน จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Nature พบว่า AI สามารถช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ถึง 79% หรือมากถึง 134 เป้าประสงค์
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDGs ทุกเป้าหมาย
ที่มา :
193 countries adopt first-ever global agreement on the Ethics of Artificial Intelligence (UN News)
UNESCO member countries adopt the first global agreement on the ethics of AI (euronews)
Last Updated on ธันวาคม 7, 2021