193 ประเทศสมาชิกองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ลงนามรับรอง “ข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์” ฉบับแรกในประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกทั้งหมดรับรอง “Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence” หรือ “ข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์” ที่จะมากำหนดกรอบการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างมีความรับผิดชอบ และมีการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรมเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
องค์การยูเนสโกระบุว่า AI จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลและภาคเอกชน ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหิวโหย แต่ก็อาจนำมาซึ่งความท้าทายทางจริยธรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากศักยภาพของอัลกอริทึม AI ในการสร้างอคติทางเพศ เชื้อชาติ และอายุ ทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่รุนแรงยิ่งขึ้น
มาตรการทั้งหมด 141 มาตรการในเอกสารนี้ร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดทิศทางการประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบ ให้คำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ช่วยจัดการประเด็นด้านความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยบทนโยบายที่มุ่มเน้นไปที่การดำเนินการเรื่องการกำกับดูแลข้อมูล (data governance) การศึกษา วัฒนธรรม แรงงาน การดูแลสุขภาพ และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ข้อแนะนำฉบับนี้ยังระบุการห้ามใช้ระบบ AI เพื่อให้คะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม (social scoring) และการสอดแนมในวงกว้าง (mass surveillance) อย่างชัดเจน
AI มีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนและช่วยในการตัดสินใจระดับภาครัฐหรือภาคเอกชน จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Nature พบว่า AI สามารถช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ถึง 79% หรือมากถึง 134 เป้าประสงค์
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDGs ทุกเป้าหมาย
ที่มา :
193 countries adopt first-ever global agreement on the Ethics of Artificial Intelligence (UN News)
UNESCO member countries adopt the first global agreement on the ethics of AI (euronews)