ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในโคลอมเบียจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองเพื่อมุ่งอนุรักษ์ ‘กบลูกศรสีทองที่มีพิษร้ายแรง’ ซึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติถูกทำลายจากการบุกรุกตัดไม้ การขุดเหมือง และการเพาะปลูกต้นโคคาอย่างผิดกฎหมาย
กบลูกศรพิษสีทอง (golden dart frog) พบได้เฉพาะในเขตป่าฝนทางตะวันออกเฉียงใต้ของโคลอมเบียเท่านั้น โดยพิษในตัวของกบลูกศรสีทองหนึ่งตัวมีอานุภาพร้ายแรงเพียงพอที่จะสังหารมนุษย์ได้ถึง 10 คน หากพิษเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้หัวใจหยุดเต้นภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที จึงจัดเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ Eperãra Siapidaarã ในพื้นที่ในอดีตจึงใช้ประโยชน์จากพิษของกบลูกศรสีทองมาอาบบนลูกดอก ลูกศร หรือเครื่องมือเพื่อล่าสัตว์เพื่อยังชีพมาหลายร้อยปี จนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น
การเปลี่ยนพื้นที่ป่ามาเป็นพื้นที่เกษตร การตัดไม้ซุง การขุดเหมืองแร่ทองคำ และการขยายการเพาะปลูกต้นโคคาอย่างผิดกฎหมายจากกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นในเขตทางชีวภูมิศาสตร์ Chocó มาหลายสิบปี จนเกิดเป็นความขัดแย้งกับชนพื้นเมือง Eperãra Siapidaarã และเกิดการสูญเสียทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมชุมชนต่อเนื่อง
ในปี 2017 ผู้นำชุมชนจึงได้หารือร่วมกับ Fundación Ecohabitats องค์กรพัฒนาเอกชนที่อุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชนบทของโคลอมเบีย ภาครัฐของจังหวัด Cauca และกระทรวงมหาดไทยของประเทศโคลอมเบีย ในการพัฒนาพื้นที่คุ้มครองให้กบลูกศรพิษสีทองบนอาณาเขตของชุมชนที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดขอบเขตร่วมกันเอง โดยได้รับเงินทุนจาก Rainforest Trust องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ระดมทุนเพื่อซื้อที่ดินในป่าฝนเขตร้อนเพื่ออนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
และในเดือนกันยายน 2019 ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ Eperãra Siapidaarã ได้ประกาศการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ ‘K´õk´õi ‘Eujã Traditional Natural Reserve’ ที่แปลว่า ‘อาณาเขตของกบลูกศรพิษสีทอง’ อย่างเป็นทางการ ครอบคลุมพื้นที่ 28.766 เอเคอร์ (ประมาณ 72.8 ไร่) ถือว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์กบลูกศรพิษสีทองที่ใหญ่ที่สุดในโคลอมเบีย
นอกจากเป็นพื้นที่ให้กบลูกศรพิษสีทองอยู่อาศัยและขยายพันธุ์อย่างปลอดภัยแล้ว ตามข้อมูลจากการวิจัยเบื้องต้นของชุมชน พื้นที่อนุรักษ์นี้ยังเป็นที่อยู่ของพืชมากถึง 41 สายพันธุ์และนก 11 สายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นของโคลอมเบียที่เป็นสัตว์หาหายากและใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์อย่างเป็นทางการขึ้น แต่ชุมชนของกลุ่ม Eperãra Siapidaarã ยังคงต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ติดอาวุธที่ยังคงพยายามรุกรานพื้นที่ และยังไม่สามารถควบคุมมลพิษที่มาจากจากการทำเหมืองแร่ที่ผิดกฎหมายต้ังแต่พื้นที่ต้นน้ำได้
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG15 นิเวศบนบก - (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563 - (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573 - (15.5) ปฎิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม #SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง - (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ #SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน -(17.16) ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนา โดยมีความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย -(17.17) ส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม บนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
ที่มา :
Indigenous community saves Colombia’s poison dart frog from coca and logging (Mongabay)
NEW PROTECTED AREA IN COLOMBIA (Fundación Ecohabitats)