‘สี’ สดใสเคลือบอุปกรณ์สนามเด็กเล่น – ในห้องเรียนของอินโดนีเซีย มีระดับสารตะกั่วเกินกว่าเกณฑ์ความปลอดภัย

‘Toxics-free future’

ข้อมูลการศึกษาขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Nexus3 Foundation ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการปกป้องไม่ให้เกิดการปล่อยสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่าย International Pollutants Elimination Network (IPEN) พบว่า 70% ของ “สี” ที่ทาอยู่บนเนื้อไม้และโลหะในอินโดนีเซีย มีสารตะกั่วเคลือบอยู่สูงมากกว่า 600 PPM ซึ่งเป็นเกณฑ์ความปลอดภัย

โดยเด็กนักเรียนราว 33 ล้านคนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอันตรายต่อสารตะกั่วอย่างยิ่ง เพราะบรรดาของเล่นในสนามเด็กเล่น โต๊ะ – เก้าอี้ และอุปกรณ์การเรียนในห้องเรียนที่ฉาบไปด้วยสีสันอย่างแดง เหลือง น้ำเงินนั้น กลับเต็มไปด้วยระดับสารตะกั่วที่มีค่าสูงมาก ทั้งที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและสมองของเด็ก มีผลทำให้พัฒนาการเติบโตเป็นไปอย่างช้า กระทบต่อทักษะการเรียนรู้และพฤติกรรม ในท้ายที่สุด ทำให้ระดับ IQs ต่ำลง

Nexus3 Foundation และ IPEN ดำเนินการทดสอบค่าสารตะกั่วในสี โดยสุ่มจากตัวอย่างกระป๋องสี 120 ชิ้นจากหลากหลายยี่ห้อ หลายเกรดและส่วนผสม และหลายผู้ผลิตทั้งชุมชน (4%) ภายในประเทศ (78%) และบริษัทข้ามชาติ (18%) ที่ขายในร้านค้าผลิตภัณฑ์สำหรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่กว่า 10 แห่งในเมือง Jakarta, Bogor, Depok, Tangerang, Bekasi, Bandung, Yogyakarta, Surabaya, Sidoarjo และ Denpasar โดยนำสีไปทาบนเนื้อไม้ รอจนแห้ง และส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ SGS Forensic Laboratories ณ กรุงซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ซึ่งมีให้บริการตรวจสอบและวิเคราะห์ระดับสารตะกั่ว

ขณะที่ Indonesian National Standard (SNI) กำหนดให้ทุกผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยของระดับสารตะกั่วที่ไม่เกิน 600 PPM ก่อนจะนำออกขายสู่สาธารณะ ผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการฯ พบว่า 39% ของตัวอย่าง มีระดับสารตะกั่วมากกว่า 10,000 PPM 29% มีระดับสารตะกั่วที่ 600 PPM – 10,000 PPM และ 5% มีระดับสารตะกั่วที่ 90 PPM – 600 PPM โดยมี 27% ที่มีระดับสารตะกั่วต่ำกว่า 90 PPM โดยหากจำแนกเป็นสี พบว่า สีส้มอันตรายมากที่สุด เพราะ 91% ของตัวอย่างสีส้มมีระดับสารตะกั่วที่มากกว่า 10,000 PPM ตามมาด้วยสีเขียว (57%) สีเหลือง (55%) และสีแดง (18%)

อย่างไรก็ดี แม้อินโดนีเซียจะกำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยไว้ที่ 600 PPM แต่ยังไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมายในการห้ามการใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี ทำให้ในอินโดนีเซีย ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เรียกร้องในเรื่องสาธารณสุขเฉกเช่นในกรณีนี้ โดยผลักดันให้เกิดการห้ามและระงับการใช้สีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว โดยสนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาใช้ผลิตภัณฑ์สีที่มีส่วนผสมจากน้ำแทน เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์มากกว่า โดยเฉพาะต่อเด็ก

ปัจจุบัน มีประเทศทั่วโลก 79 ประเทศหรือ 41% ของรัฐสมาชิกของ UN ที่มีผลผูกพันตามกฎหมายในการจำกัดการผลิต การนำเข้า และส่งออก “สีที่มีสารตะกั่ว”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Primary-coloured poison: lead paint still a huge threat to Indonesian kids (eco-business / mongabay)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น