ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การเสียชีวิตของประชากรในโลกเกือบ 40% ในปี 2563 ไม่ได้มีการจดทะเบียนการตาย ทว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่าที่มีข้อมูลบันทึก ขณะที่ข้อมูลของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พบว่า เด็กเกิดใหม่อายุต่ำกว่า 5 ปี 64 ล้านคนในเอเชียแปซิฟิกยังไม่ได้จดทะเบียนการเกิดหรือมีสูติบัตร สองประการนี้เป็นตัวอย่างสะท้อนถึงความสามารถในการนับจำนวนและบันทึกข้อมูลการเกิดและการตายในช่วงของโรคระบาด ที่หากทำได้ไม่แม่นยำและครอบคลุมพอ จะส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดและกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การป้องกันโรคด้วยการฉีดวัควีน การคุ้มครองทางสังคม และบริการขั้นพื้นฐานอื่น ๆ อาทิ การศึกษา
ทั้งนี้ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในการทบทวนและติดตามความคืบหน้าของระบบ Civil Registration and Vital Statistics (CRVS) หรือ ‘ระบบทะเบียนราษฎร’ ปี 2558 – 2567 จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2564 ได้ย้ำถึงความสำคัญของทะเบียนประชากรที่เป็นระบบและแม่นยำ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชาชน โดยมีการนำเสนอความคืบหน้าในกรณีของประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีการเปลี่ยนจากการจดทะเบียนในรูปแบบกระดาษไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลกันมากขึ้น หลาย ๆ ประเทศสามารถออกใบทะเบียนการเกิดและการตายได้โดยอัตโนมัติเมื่อมีการแจ้ง และส่งให้ผู้รับบริการได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงว่าสามารถบรรลุเป้าประสงค์ของการจัดเก็บสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เพื่อให้มีข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตเป็นสถิติช่วยวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศ
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของปฏิญญารัฐมนตรี (Ministerial Declaration) หรือเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้ ยังระบุถึงการจัดให้มีการระบุชี้ตัวตน (identification) การประเมินความไม่เท่าเทียมและออกมาตรการที่จะขจัดอุปสรรคที่เกี่ยวกับหรือเกิดขึ้นกับระบบ CRVS ในกลุ่มประชากรที่เปราะบางด้วย เพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะปัจจุบันยังมีประชากรโลกอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก ชนพื้นเมือง ผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐ ราว ๆ 1 พันล้านคน ที่ใช้ชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีเอกลักษณ์ทางกฎหมาย (legal identity) ที่เป็นตัวกำหนดสิทธิการเข้าถึงบริการทางสังคม
ทั้งนี้ ระบบทะเบียนราษฎรที่เป็นระบบและแม่นยำเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะต้องพยายามให้สามารถบรรลุเป้าหมายการจดทะเบียนการเกิด การตาย และสาเหตุของการตายให้ได้ 75% ภายในปี 2568 และต้องมีการจดทะเบียนการเกิด 100% และการจดทะเบียนการตาย 80% ภายในปี 2573
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
-(16.9) จัดให้มีเอกลักษณ์ทางกฎหมายสำหรับทุกคน โดยรวมถึงการให้มีสูติบัตร ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
Asia Pacific needs to ramp up births, deaths registration (eco-business)
Last Updated on ธันวาคม 8, 2021