‘อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมข้ามชาติ’ เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งโลก รวมถึงสุขภาพของมนุษย์เอง และยังสัมพันธ์กับเครือข่ายอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะขององค์กรในระบบเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นหมายความว่าการต่อสู้กับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม จะต้องอาศัยการตระหนักรู้ของสาธารณชนและความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความแน่วแน่และซื่อสัตย์ในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
Asia Environmental Enforcement Awards 2021 เป็นการประกาศรางวัลครั้งที่ 6 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของปัจเจกบุคคล องค์กร เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐของภูมิภาคเอเชีย ที่ดำเนินการต่อสู้กับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนได้ลุล่วงภายใต้กฎหมายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การค้าสารเคมี ขยะ และพลาสติกผิดกฎหมาย เป็นต้น โดยสำหรับปี 2564 นี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 115 ทีมจากหลากหลายประเทศในเอเชีย และมี 4 ทีมที่ได้รับรางวัลความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายทางสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ “การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย”
ทั้งนี้ ผู้ชนะทั้ง 4 ทีมได้รับรางวัลตาม 3 สาขาประเภท ได้แก่ 1. นวัตกรรม (innovation) 2. ความเป็นผู้นำบนฐานของความเท่าเทียมทางเพศ (gender leadership) และการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง (women empowerment) และ 3. ความร่วมมือ (collaboration) ดังนี้
- Innovation – Swayam Mallick, Ajay Kumar Sahoo, Ghanashyam Mahanta and Sanjib Rout จากหน่วยงานด้านป่าไม้ Keonjhar กรมป่าไม้และสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐโอริศา (Odisha) ประเทศอินเดีย
- Gender leadership – 1) Dr. Anna Wong ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ และ 2) อุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ ร่วมกับศุลกากรสิงคโปร์ และสำนักงานต่อต้านการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย ศุลกากรของจีน
- Collaboration – กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากรไทย ร่วมกับสำนักงานต่อต้านการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย ศุลกากรของจีน (Huangpu) และกรมสืบสวน ศุลกากรเวียดนาม
ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลร่วมกับกรมศุลกากรจีนและศุลกากรเวียดนาม ในสาขาความร่วมมือ จากผลงานการร่วมสืบสวน แลกเปลี่ยนข้อมูล และตรวจยึดไม้พะยูงจำนวน 733 ท่อนที่มีต้นทางมาจากเวียดนามผ่านทางไทยไปจีน และสามารถจับกุมสมาชิกกลุ่มอาชญากรได้ 4 คนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยไม้พะยูงถือเป็นไม้ต้องห้ามมิให้ครอบครอง ตามที่กำหนดในภาคผนวก I และ II ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
Asia Environmental Enforcement Awards จัดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) องค์การศุลกากรโลก (WCO) และเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Secretariat of CITES)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม และสถาบันมีประสิทธิผล
-(16.4) ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน เสริมความแข็งแกร่งของกระบวนการติดตามและการส่งคืนสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไป และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี 2573
-(16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
Fight against crime takes center stage at the Asia Environmental Enforcement Awards (UNEP)
2021 Asia Environmental Enforcement Awards (UNEP)
2021 Asia Environmental Enforcement Awards (fundsforngos)
กรมศุลกากรรับรางวัล Asia Environmental Enforcement Awards 2021 (aec10news)