ความกังวลที่มีต่อมลพิษจากพลาสติกประการหนึ่งคือการปนเปื้อนของ “ไมโครพลาสติก” (microplastics) ในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารที่ท้ายที่สุดจะกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยคาดว่ามนุษย์กลืนกินไมโครพลาสติกเข้าไปราว 39,000 – 52,000 อนุภาคต่อปี ทว่ายังไม่มีงานวิจัยที่สามารถระบุถึงความเสี่ยงของผลกระทบที่มีต่อร่างกายมนุษย์ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี การศึกษาล่าสุดเผยแพร่ใน Journal of Hazardous Materials มีข้อค้นพบใหม่โดยระบุว่า ไมโครพลาสติกเป็นพิษต่อเซลล์ โดยสามารถทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและตายได้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพในด้านอื่น ๆ
ทีมผู้ศึกษาจากมหาวิทยาลัย York วิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติจากงานการศึกษาที่ได้มีการตีพิมพ์มาก่อน ในด้านผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อเซลล์ อาทิ ไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่ม อาหารทะเล และเกลือบริโภค เพื่อดูผลกระทบของระดับหรือปริมาณไมโครพลาสติกที่มีต่อเซลล์ของมนุษย์ จากการศึกษาความเป็นพิษ (toxicology tests) พบว่ามีปฏิกิริยาทั้งเซลล์ตายและอาการแพ้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการกลืนกินหรือสูดดมไมโครพลาสติกในระดับสูงหรือในปริมาณมาก
โดยในรายละเอียดนั้น การศึกษาระบุว่าไมโครพลาสติกสามารถส่งผลกระทบได้ใน 4 ระดับที่ชัดเจน อาทิ ไมโครพลาสติกในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถเป็นอันตรายต่อการมีชีวิตของเซลล์ (cell viability) และไมโครพลาสติกในปริมาณ 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถเป็นผลให้เกิดอาการแพ้
กระนั้น แม้การศึกษาทบทวนได้เผยให้เห็นว่าการกลืนกินและสูดดมไมโครพลาสติกในแต่ละระดับจะส่งผลกระทบต่อเซลล์ของร่างกายและอาจก่อให้เกิดผลทางสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา ทว่าการศึกษานี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเมื่อไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเป็นอย่างไร หากตอบคำถามนี้ได้จะช่วยให้เข้าใจระดับความเสี่ยงของไมโครพลาสติกต่อมนุษย์มากขึ้น
● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติก
– ปลาน้ำจืดกลืนกินไมโครพลาสติกมาตั้งแต่ทศวรรษ 2493
– มลพิษทางทะเลครั้งร้ายแรง เมื่อ ‘เม็ดพลาสติก’ ทะลักลงทะเลศรีลังกาจากเหตุไฟไหม้เรือขนสินค้า
– ทารกอาจได้รับมลพิษตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อนักวิจัยพบไมโครพลาสติกในรกเด็กเป็นครั้งแรก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563