SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ

พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม

ผู้หญิงทั่วโลกราว 1 ใน 3 หรือ 30% จากทั้งหมด เคยประสบกับความรุนแรงทางจิตใจ ทางกาย และ/หรือทางเพศ อย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้ง จากคนรักหรือที่ไม่ใช่คนรักไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็น “ความรุนแรงต่อสตรี” (violence against women) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนบนฐานของความแตกต่างทางเพศ (gender-based violence) ข่มขู่ บังคับ พรากเสรีภาพไปทั้งจากชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน อย่างที่เราคุ้นหูกัน ความรุนแรงต่อสตรียังมีความหมายที่กินใจความครอบคลุมถึงการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) และการถูกขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) เป็นต้น

ดู – ความยั่งยืนใน Infographic วันนี้ ชวนอ่านสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงโดยคนรัก อาชญากรรมทางเพศหรือการฆ่าเพียงเพราะเป็นเพศหญิง (femicide) การค้ามนุษย์โดยที่มีผู้หญิงและเด็กหญิงตกเป็นเหยื่อ การบังคับเด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันควร ตลอดจนความรุนแรงทางเพศในพื้นที่ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ ผ่าน 5 อินโฟกราฟฟิกอ่านเข้าใจง่าย รวบรวมและนำเสนอโดยทีม AJLabs สำนักข่าว Al jazeera


01 – ความรุนแรงโดยคนรัก (Intimate partner abuse)

หมายถึง พฤติกรรมจากสามี – คนรักที่ทำอันตรายต่อผู้หญิง อาทิ พฤติกรรมที่ชอบเข้ามาควบคุมและบงการ การใช้คำพูดบีบบังคับขู่เข็ญให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจ (sexual coercion) และความก้าวร้าวทางกายที่ทำให้เจ็บปวด (physical aggression)

ตามข้อมูลของ UN ระบุว่า ความรุนแรงต่อสตรีโดยมากเป็นการถูกกระทำจากสามี – คนรักเพศชายที่เลิกรากันไปหรือในปัจจุบันที่ยังอยู่ในความสัมพันธ์นั้น โดยมีผู้หญิงตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่า 640 ล้านคนเคยเผชิญกับการถูกกระทำความรุนแรงทางกายและ/หรือทางเพศมาแล้ว

สถานการณ์นี้เลวร้ายที่สุดในอัฟกานิสถาน โดยมีผู้หญิงและเด็กหญิงอายุมากกว่า 15 ปีเกือบ 34% ถูกล่วงละเมิดโดยคนรัก และจาก 10 ประเทศที่มีผู้หญิงและเด็กหญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศในกรณีนี้มากที่สุด พบว่า มี 5 ประเทศด้วยกันที่มาจากภูมิภาคแอฟริกา

นอกเหนือจากความรุนแรงโดยคนรัก ตามข้อมูลของ UN Women ระบุว่า มีผู้หญิงทั่วโลกราว 6% (หรือมากกว่า) ที่เผชิญกับ “ความรุนแรงทางเพศ” (sexual violence) จากบุคคลอื่นที่มิใช่สามีหรือคนรัก

ความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) หมายถึง การกระทำใดก็ตามจากใครก็ได้ ในสภาพแวดล้อมใดก็ได้ ที่มีลักษณะบ่งชี้ทางเพศ เช่น การพยายามข่มขืน การบังคับขืนใจ – สอดใส่อวัยวะเพศ การสัมผัสที่เป็นการคุกคามทางเพศ เป็นต้น

02 – อาชญากรรมทางเพศหรือการฆ่าเพียงเพราะเป็นเพศหญิง (Femicide)

นี่คืออาชญากรรมทางเพศในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเพียงเพราะสถานะทางเพศ คำที่คุ้นหูกันในอาชญากรรมประเภทนี้ มีอาทิ “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ” (Honor Killings) ที่หมายถึงการที่สมาชิกในครอบครัวและเครือญาติเพศชาย ลงมือฆาตกรรมผู้หญิงและเด็กหญิงในครอบครัว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประคับประคอง “เกียรติยศของวงศ์ตระกูล” ซึ่งส่วนมากสถานการณ์นี้มักเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้

อันที่จริงแล้ว ข้อมูลที่เกี่ยวกับ Femicide มีค่อนข้างจำกัด เพราะมักเป็นอาชญากรรมที่ไม่ได้มีการจดบันทึก อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลจากรายงาน Homicide ของ UNODC ระบุว่า ในปี 2560 มีผู้หญิงราว 87,000 คนที่ถูกฆาตรกรรมจากเหตุดังกล่าว โดยภาพรวมนั้นมีจำนวนมากสุดในภูมิภาคแอฟริกา

03 – การค้ามนุษย์โดยที่มีผู้หญิงและเด็กหญิงตกเป็นเหยื่อ (Human trafficking)

การค้ามนุษย์สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกเพศสภาพ ทว่าผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นกลุ่มเปราะบางที่มักตกเป็นเป้าหมายมากที่สุด โดยมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อราว 46% และเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อราว 19% ตามข้อมูลของ UNODC

ซึ่งโดยมาก ผู้หญิงและเด็กหญิงมักถูกค้ามนุษย์ในประเภทของการบังคับค้าประเวณี (sexual exploitation) และอีกประการหนึ่งคือการเป็นแรงงานบังคับ (forced labour)

ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องทาสสมัยใหม่ (และการค้ามนุษย์) ที่
SDG Recommends | Modern Slavery Data Stories เล่าเรื่อง ‘ทาสสมัยใหม่’ ที่ซ่อนตัวอยู่ทั่วโลกด้วย data

04 – การบังคับเด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันควร (Child, Early and Forced Marriage – CEFM)

แม้ว่าการบังคับเด็กแต่งงานจะลดลงทั่วโลกอยู่ที่ราว 1 ใน 5 คน ทว่าการกระทำเช่นนี้ยังคงมีอยู่ โดยที่มีการประเมินว่าภายในอีกทศวรรษข้างหน้า จะมีเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปีมากกว่า 100 ล้านคนที่เสี่ยงหรือถูกบังคับให้ต้องแต่งงาน เมื่อประจวบกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยแล้ว องค์การ UNICEF คาดว่าจะมีเด็กในจำนวนเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินนี้อีก 10 ล้านคน

ทั้งนี้ ข้อมูลในอินโฟกราฟฟิกชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียใต้ยังคงมีการบังคับแต่งงานเด็กจำนวนมาก โดยมีเด็กหญิงราว 28% ที่ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุต่ำกว่า 18 ปี และ 7% ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุต่ำกว่า 15 ปี ขณะที่ภูมิภาคซึ่งมีจำนวนการบังคับแต่งงานเด็กสูงมากยังรวมถึงภูมิภาคแอฟริกา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เด็กหญิงกว่า 10 ล้านคนเสี่ยงกับการแต่งงานก่อนวัยอันควร

05 – ความรุนแรงทางเพศในพื้นที่ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ (Sexual violence in armed conflict)

จากข้อมูลที่มีการเก็บบันทึกของ Armed Conflict Location and Event Data Project ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในพื้นที่สงครามหรือพื้นที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ ส่วนมาก หรือที่ 86% เกิดกับพลเรือนผู้หญิง

โดยแอฟริกายังคังเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนความรุนแรงประเภทนี้มากที่สุด จากกรณีทั้งหมด 376 กรณี มี 135 กรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) และเป็นการกระทำโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย

แหล่งอ้างอิง
Infographic: Mapping violence against women (Al jazeera)
Violence against women (WHO)
Facts and figures: Ending violence against women (UN Women)
Femicide: Everything You Need to Know (Global Citizen)

Last Updated on ธันวาคม 14, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น