SDG Updates | เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

SDG Updates ฉบับนี้ จะพาทุกท่านสำรวจการจับสองแนวคิดสำคัญอย่างเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อร่วมออกแบบแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ หัวข้อ “Behavioral Economics and the SDGs: เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมทั้ง 3 ท่าน ประกอบด้วย อ.ลอยลม ประเสริฐศรี ร่วมเสวนาในประเด็นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับประเด็นสุขภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ พูดคุยในประเด็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย ในการฉายภาพความสำคัญของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการศึกษา โดยมี ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดช เป็นผู้ดำเนินรายการ


| เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพ

อ.ลอยลม ประเสริฐศรี เริ่มต้นด้วยการอธิบายการเชื่อมโยงของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ากับ #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ด้วยการหยิบยกเนื้อหาที่ได้มีการทำวิจัยในหัวข้อ “มาตรการแรงจูงใจในการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงของโรค NCDs: มุมมองแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและประสบการณ์ในต่างประเทศ” โดยในช่วงต้น อาจารย์ได้ฉายภาพการเกิดขึ้นของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าพยายามตั้งคำถามถึงแนวคิดการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ตามเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อเสมอว่ากมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุมีผล คิดคำนวณต้นทุนและประโยชน์จากการกระทำอยู่ตลอดเวลา โดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเชื่อว่ามนุษย์อาจมีวิธีคิดที่ซับซ้อนมากกว่านั้น โดยในระบบความคิดของมนุษย์อาจแบ่งออกได้ 2 แบบ

01 ระบบการคิดและการตอบสนองแบบรวดเร็ว ซึ่งอาจขาดการไตร่ตรอง และถูกครอบงำด้วยอคติ (bias) ในลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่ อคติจากการชั่งผลประโยชน์ ณ ปัจจุบัน เฉพาะหน้ากับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว (present bias) อคติจากการที่ไม่รู้ผลลัพธ์จากการกระทำในปัจจุบันที่จะส่งผลในอนาคต (cognitive bias) และ อคติจากความเคยชินหรือพฤติกรรมดั้งเดิม (status quo bias)

02 การคิดและการตอบสนองที่มีการพิจารณา ไตร่ตรองต้นทุน และผลประโยชน์อย่างรอบคอบ

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้ถูกนำมาใช้ศึกษาในประเด็นด้านสุขภาพอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการศึกษาการเกิดโรคไม่ติดต่อของคน (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค การศึกษาในเรื่องการใช้ยาทางการแพทย์ (rational use of drugs) การศึกษาพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออุบัติเหตุ และการศึกษาปัญหาสุขภาพจิต

นอกจากนั้น อ.ลอยลม ได้ให้ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยตามข้อมูลของ Euromonitor ที่เปรียบเทียบการบริโภคน้ำตาลและไขมันในระดับโลก ไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ “ยอมรับได้” โดยเปรียบเทียบ แต่ถ้าเป็นการบริโภคเกลือ จะพบว่าไทยอยู่ในเกณฑ์การบริโภคสูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ทำให้สุขภาพโดยรวมของคนไทยยังมีความน่าเป็นห่วง โดยในแต่ละปีการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 73% เสียชีวิตจากการเป็นโรค NCDs ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 63%

ดูข้อมูลการบริโภคน้ำตาลและไขมันเพิ่มเติม

ดังนั้น การศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม สามารถนำมาออกแบบเป็นแนวนโยบายเพื่อปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพออกเป็น 3 แนวทาง โดยเป็นแนวทางที่เรียงจากเบาไปหาหนัก ซึ่งในแต่ละครั้งอาจจะต้องผสมผสานแต่ละแนวทางเข้าด้วยกันเพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

01 Nudges แนวทางที่เน้นให้บุคคลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ผ่านการกระตุ้นความคิด ความรู้สึกบางอย่างของมนุษย์ โดยหลักสำคัญของแนวทางนี้คือ “ทำให้ง่ายเข้าไว้” หรือทำให้ผู้คนรับรู้และเข้าถึงการกระตุ้นนั้นอย่างง่ายดาย โดยลักษณะการใช้ nudges มีหลากหลายวิธี เช่น

  • Default option/ setting เป็นการกำหนดทางเลือกที่เป็นค่าเริ่มต้น โดยตัวอย่างปัญหาในไทย ที่ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเตรียมพริกน้ำปลาไว้ทุกโต๊ะ เปรียบเสมือนการตั้งค่าเริ่มต้นว่าอาหารจะต้องใส่พริกน้ำปลา และจะกลายเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติ ดังนั้น วิธีการในลักษณะนี้คือการตั้งค่าเริ่มต้นที่จะสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การกำหนดอาหารจานหลักในเมนูให้เป็นอาหารสุขภาพ หรือการถามลูกค้าทุกครั้งเพื่อเลือกระดับของความหวานของเครื่องดื่ม
  • Reminders หรือการส่งคำเตือน เพื่อเตือนว่าจะต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่สำคัญ ซึ่งการกระตุ้นพฤติกรรมบางอย่างขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อความที่ใช้ในการแจ้งเตือน ผสมผสานคุณค่าของสังคมบางอย่างในคำแจ้งเตือน เช่น การแจ้งเฉพาะว่ามีนัดที่ต้องพบแพทย์อย่างเดียว กับการแจ้งว่าหากขาดนัดจะเสียต้นทุนแก่ตนเองหรือสังคมโดยรวมอย่างไรบ้าง ก็สามารถสร้างแรงกระตุ้นที่แตกต่างจาการส่งคำแจ้งเตือนธรรมดาได้
  • Planning prompts เป็นการกระตุ้นให้เกิดการวางแผน โดยกระตุ้นให้บุคคลเห็นผลประโยชน์จากการวางแผนที่เป็นมิตรต่อสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตอื่น ๆ
  • Information design: Priming หรือการชี้นำให้เกิดการตระหนักรู้ โดยการใช้ภาพ สัญลักษณ์ เพื่อสื่อและดึงดูดให้เกิดความรู้สึกหรือตัดสินใจกระทำบางอย่าง
  • Social norms and information หรือบรรทัดฐานทางสังคม/ข้อมูลทางสังคม เป็นการแสดงให้เห็นข้อมูลหรือแนวโน้มว่าคนในสังคมส่วนใหญ่กระทำบางอย่าง เพื่อจูงใจให้เกิดการปฏิบัติตาม หรือหลีกเลี่ยงการกระทำ
  • Warning หรือการเตือนภัยให้เห็นถึงผลเสียของการกระทำ โดยอาจสะท้อนออกมาเป็นภาพที่สามารถพบเห็นบ่อย ๆ เพื่อสร้างภาพจำและการตระหนักถึงผลเสีย
  • Convenience and salience การสื่อสารที่เข้าใจง่ายและโดดเด่น การสื่อสารที่อาศัยสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้รับสารคุ้นเคยเพื่อให้เข้าถึงการสื่อสารได้ง่าย เช่น การใช้ภาพพีระมิดการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อแสดงประโยชน์ของการเลือกบริโภคอาหารในแต่ละกลุ่ม หรือการจัดวางสินค้าหรืออาหารเพื่อสุขภาพในระดับที่เห็นและหยิบง่าย
  • Informing people of the nature and consequences of their own past choices หรือการให้ข้อมูลผลลัพธ์สืบเนื่องจากกิจกรรมการเลือกในอดีต เช่น ในอังกฤษ Midata จะช่วยแสดงประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเห็นพัฒนาการและพร้อมเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือ Myplate.gov ที่แสดงภาพสัดส่วนสารอาหารจำเป็นในจานอาหาร เพื่อสร้างภาพจำของผู้บริโภค

ดูรายละเอียด Myplate.gov เพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี nudge อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการปรับพฤติกรรมของผู้คนในระยะยาวขนาดนั้น เช่น กรณีของบันไดเปียโน เพื่อดึงดูดให้คนหันมาใช้บันไดมากยิ่งขึ้น โดยครั้งแรกที่นำวิธีการดังกล่าวมาใช้ ผู้คนตื่นเต้น ตอบรับเป็นอย่างมาก แต่ในระยะยาวผู้คนเกิดความเคยชิน และไม่ได้ให้ความร่วมมือในการขึ้นบันได้เหมือนในครั้งแรก

02 Economic incentives เป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งฝั่งผู้ผลิต และผู้บริโภค ตั้งแต่มาตรการสนับสนุนทางการเงิน การเก็บภาษีสินค้าบางชนิด เป็นต้น โดยตัวอย่างจากสิงค์โปร์ที่มีการอุดหนุนผู้ประกอบการอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสนับสนุนทุนในการส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมทางด้านการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น หรือในกรณีของแคนาดา ที่มีเครดิตภาษีเพื่อสุขภาพ (health tax credit) สำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจะได้รับการลดหย่อนภาษี

03 Mandates and bans การใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อบังคับ และมีบทลงโทษ เช่น อังกฤษมีกฎหมายแบนสินค้าในกลุ่มไขมัน น้ำตาล และเกลือในระดับสูง โดยห้ามในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ห้ามวางสินค้าตามจุดทางเข้าร้าน จุดชำระเงิน หรือแสดงบนหน้า homepage รวมไปถึงการห้ามออกโปรโมชั่นในสินค้าดังกล่าว หรือการกำหนดให้ต้องแสดงปริมาณแคลอรี่บนเมนูของร้านอาหารในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง nudge อีกทางในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในการเลือก


| การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ ได้อธิบายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อช่วยการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการที่หลากหลายในการที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กฎหมายในการกำหนดมาตรฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้า แรงจูงใจทางการเงิน หรือค่าธรรมเนียมเพื่อลดปัญหาขยะ การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมประเด็นการ “สะกิด” หรือ nudging ว่าด้วยความมักง่าย ชอบสะดวกสบาย หรือความเคยชิน เป็นสาเหตุหนึ่งต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความมักง่ายนี้ก็อาจเป็นส่วนช่วยลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม หากออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่ช่วย “สะกิด” ให้คนเข้าถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย “การทำให้ง่าย” และ “การทำให้ชัด” ต่อผู้คน เช่น การออกแบบสีและลักษณะของถังขยะให้เห็นเด่นชัดเข้าใจง่าย และทิ้งขยะได้ง่าย หรือการเติมเฉดสีของการกดชักโครก เพื่อให้คนเห็นว่าการกดชักโครกของตนเองจะสูญเสียน้ำไปมากเท่าใด

การทำให้ง่าย” อาจจะทำด้วยการตั้งค่าเริ่มต้น (default) เพื่อให้เป็นความเคยชินหรือเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของคน เช่น การตั้งค่าเครื่องพิมพ์เริ่มต้นให้พิมพ์สองหน้า เพื่อลดการใช้กระดาษ หรือการไม่แจกถุงพลาสติกให้เป็นค่าเริ่มต้นในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะทำให้การใช้พลาสติกเป็นภาระและการไม่รับถุงพลาสติกเป็นพฤติกรรมตั้งต้น

การทำให้ชัด” โดยให้ข้อมูลหรือฉายภาพให้ชัดเจนถึงข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเชื่อมโยงการใช้พลาสติกกับภาพเต่าทะเล หรือการให้ภาพที่แสดงข้อมูลกระบวนการทั้งหมดของรีไซเคิล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนจะนำไปสู่สิ่งใด การทำให้ชัดจะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อ “เตือนสติ” การทำให้ชัดเพื่อให้เห็นประโยชน์จากการปรับตัว เช่น การปรับพฤติกรรมการบริโภคไฟฟ้า ของบริษัท Oracle ด้วยการใช้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองใช้พลังงาน หรือประหยัดพลังงานไปได้เท่าไร จะช่วยสะกิดให้ผู้บริโภครับรู้ว่าตนสูญเสียต้นทุนจากการใช้ไฟฟ้าจากการทำกิจกรรมของครัวเรือนอย่างไรบ้าง

นอกจาการสะกิดพฤติกรรมของผู้คนแล้ว การใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นำมาใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผ่านเครื่องมือทางภาษีให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีของญี่ปุ่นที่แยกรายละเอียดการเก็บภาษีของสินค้าอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อตระหนักถึงภาษีที่สูญเสียจากสินค้า แนวทางนี้น่าจะสามารถปรับใช้ในภาษีสิ่งแวดล้อมได้

อ.อนิณ ยังกล่าวอีกว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้คนเข้าถึงง่ายและกระตุ้นการเปลี่ยนพฤติกรรมแบบนี้ ต้นทุนหรือภาระบางส่วนก็จะตกไปอยู่ที่เอกชนและผู้ผลิต และยังเกี่ยวโยงกับปัญหาในเชิงการแข่งขันในตลาด ดังนั้น รัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อส่งเสริมการผลิตและออกแบบนวัตกรรมที่จะช่วยกระตุ้นเตือนพฤติกรรมของคนในสังคม

นอกจากนั้น อ.อนิณ ได้หยิบยกประเด็นการจัดการ ขยะอาหาร (food waste) และการสูญเสียอาหาร (food loss) ที่ตอบสนอง #SDG12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนโดยตรง เป็นตัวอย่างของการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ควบคู่ไปกับแรงจูงใจทางการเงิน (financial incentive) ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยในกรณีของเกาหลีใต้ ที่ประสบความสำเร็จจากการจัดการขยะอาหาร ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายสั่งห้ามการทิ้งขยะอาหารในพื้นที่ฝังกลบขยะ (landfill) รวมถึงมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีการคิดค่าธรรมเนียมในการมีอาหารเหลือทิ้งของครัวเรือน หรือ Pay-As-You-Throw (PAYT) รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยการทิ้งขยะอาหารอย่างถูกต้องให้ง่ายดายมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องอาศัยต้นทุนในการลงทุน แต่อย่างไร การใช้ nudge ในการลดขยะอาหารสามารถนำมาใช้ควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ ได้หลายวิธี เช่น การลดขนาดของภาชนะที่ใส่อาหาร เพื่อลดการเลือกอาหารเกินขนาด หรือการให้ข้อมูลผ่านภาพว่าจะลดอาหารเหลือทิ้งได้อย่างไร


การสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) ในเป้าหมาย #SDG12

ประเด็นสำคัญที่ อ.อนิณ ได้ทิ้งท้าย คือ ปกติแล้วผู้คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้อื่น แต่อาจจะเห็นว่าผลกระทบยังอยู่อีกยาวไกลกว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจน หรือถูกความมักง่ายเข้าครอบงำจนเป็นอคติหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ แม้แนวทางตามเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะช่วยในการลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการทำกิจกรรมของมนุษย์ แต่กระบวนการเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยต้นทุน หรือการสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนแปลง มาตรการทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ หรือการเงิน ควรจะเป็นเครื่องมือหลักในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับนโยบายที่เน้นการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน


| เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการศึกษา

ในส่วนของ รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย ได้หยิบยกการนำเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาช่วยในเรื่องการศึกษาจากงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่เอื้อต่อการศึกษา

งานวิจัยทำการศึกษาเปรียบเทียบนักเรียนสองกลุ่มหลักซึ่งมีความแตกต่างกันของฐานะครอบครัว ว่าส่งผลต่อแนวคิดหรือทัศนคติแตกต่างกันหรือไม่ โดยแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็น (1) กลุ่มเด็กยากจนพิเศษตามเกณฑ์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ (2) เด็กจากครอบครัวทั่วไป เพื่อเก็บข้อมูลจากโรงเรียนทั่วทุกภาคของประเทศ ผลการศึกษาค้นพบว่าทัศนคติแบบ Growth Mindset หรือมุมมองที่เชื่อว่าตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ เกิดขึ้นในเด็กแตกต่างกันตามระดับฐานะของครอบครัว โดยเด็กในกลุ่มยากจนพิเศษ ซึ่งเห็นภาพของอาชีพผู้ปกครองและสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ทำให้เกิดทัศนคติว่าตนมีช่องทางในการพัฒนาตนเองหรือคุณภาพชีวิต หรือเข้าถึงวิชาชีพอื่น ๆ อย่างจำกัด ไม่ไกลจากประเภทของอาชีพที่ผู้ปกครองทำอยู่ เปรียบเสมือนมีทัศนคติที่ปิดกั้นตัวเองจากการพัฒนาอาชีพผ่านการศึกษา เช่น การใช้คำถามถึงความคาดหวังในการเรียนจบในชั้นมหาวิทยาลัย หรือคำถามความคาดหวังระดับรายได้จากการทำงานหลังเรียนจบ ม.6 และปริญญาตรี ซึ่งเด็กยากจนคาดหวังน้อยกว่ากลุ่มเด็กทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเรียกได้ว่า “เป็นการติดกับทางความคิดกับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งทัศนคติเหล่านี้จะนำไปสู่พฤติกรรมที่หันหน้าหนีออกจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น

นอกจากการศึกษาข้างต้น งานวิจัยยังได้พยายามศึกษาเพื่อออกแบบวิธีการสร้างทัศนคติและพฤติกรรมที่จะส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา โดยให้หลักสูตรที่จะเสริมสร้างทัศนคติเพื่อให้เด็กนักเรียนเห็นว่ามีทางเลือกที่หลากหลายมากสำหรับการประกอบอาชีพ มีสิ่งที่สามารถเลือกทำได้มากมายนอกเหนือจากอาชีพของผู้ปกครอง และเน้นการออกแบบวิธีการไปที่ตัวผู้ปกครอง เนื่องจากบางครั้ง ผู้ปกครองเองก็ไม่รู้วิธีการสื่อสารหรือการแสดงออกเพื่อสร้างความคาดหวังจากการศึกษา

ในงานศึกษาได้ออกแบบ 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรการศึกษาด้านอาชีพ (career perspective) และ หลักสูตรด้าน growth mindset แบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกให้หลักสูตรการศึกษาด้านอาชีพแก่นักเรียน กลุ่มที่สองให้หลักสูตรด้าน growth mindset แก่นักเรียน กลุ่มที่สามให้ทั้งสองหลักสูตรแก่นักเรียน ส่วนกลุ่มที่สี่ให้ทั้งสองหลักสูตรเหมือนกัน แต่เพิ่มผู้ปกครองเข้ามาด้วย (เฉพาะผู้ปกครองที่ยากจนพิเศษ) และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับหลักสูตรใด ๆ โดยทำการทดลองกับเด็กใน 251 โรงเรียน ที่อยู่ระดับชั้น ป. 4 และ ม.1 ทั้งหมด 16,000 กว่าคน โดยมีระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาในการทำวิจัย

ผลจากการศึกษา พบว่าการให้หลักสูตร growth mindset ส่งผลต่อทัศนคติของนักเรียนทั้งสองระดับชั้นอย่างชัดเจน ในส่วนของการให้หลักสูตรทั้งเรื่องอาชีพ และ growth mindset ส่งผลต่อ ทักษะการคิด (cognitive skills) โดยวัดผ่านผลคะแนนของวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย โดยหลักสูตร growth mindset ส่งผลต่อคะแนนคณิตศาสตร์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในภาษาไทยในเชิงข้อมูลแล้วอาจไม่แน่ชัดเรื่องผลกระทบ

นอกจากนั้น ในส่วนของทักษะด้านพฤติกรรม (non-cognitive skills) โดยวัดจาก Internalised Behaviour ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวอารมณ์ ความรู้สึก และสมาธิ กับ Externalised Behaviour ที่เกี่ยวกับ พฤติกรรมการก้าวร้าว การเกเร หรือพฤติกรรมที่แสดงออกมาก โดยกลุ่มที่ได้รับ growth Mindset กับเรื่องอาชีพ ส่งผลต่อ internalised behaviour ดีขึ้น โดยเฉพาะในนักเรียน ม.1 ส่วน externalised behaviour ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นเด่นชัดในกลุ่มที่ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองได้รับหลักสูตร

ในส่วนของความคาดหวัง และความเชื่อ กลุ่มที่ได้รับหลักสูตร มีการคาดหวังว่าตนจะได้รับรายได้หลังจากเรียนจบมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับหลักสูตรใด ๆ เลย โดยผลลัพธ์นี้จะเห็นเด่นชัดมากใน ป.4 ส่วนความคาดหวังที่จะได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา กลุ่มที่ได้รับหลักสูตร growth mindset จะมีความคาดหวังที่จะได้เรียนต่อมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับหลักสูตร

อ.ภูมิสิทธิ์ ได้สรุปว่า การให้หลักสูตรที่มุ่งปรับทัศนคติและความคิด จะช่วยให้เกิดการปรับความคิดเพื่อการพัฒนาทางการศึกษา แม้เด็กจะเติบโตมาจากสิ่งแวดล้อมที่อาจไม่เอื้อต่อการเติบโต หรือคาดหวังความก้าวหน้าของชีวิต ทั้งนี้ การที่ผู้ปกครองได้รับหลักสูตรด้วย จะยิ่งช่วยให้ผู้ปกครองสามารถสื่อสารกับนักเรียน ครู และโรงเรียน ก็จะยิ่งส่งผลต่อทัศนคติของนักเรียนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการสร้างแรงบันดาลใจ (incentive motivation) เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกเหนือไปจากแรงจูงใจทางการเงิน (financial incentive)

ภาพแสดงผลการศึกษาจากการให้เรียนหลักสูตรการศึกษาด้านอาชีพ (career perspective) และ หลักสูตรด้าน growth mindset โดย รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย

นอกจากนั้น งานวิจัยยังได้วิเคราะห์จากมุมของผู้ปกครองเพิ่มเติมในเชิงการเงิน ที่จะมีส่วนเป็นอย่างมากต่อการลงทุนเพื่อการศึกษาของนักเรียน ซึ่งหากผู้ปกครองได้รับเงินช่วยเหลือก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงทุนในการศึกษามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จากมุมของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จังหวะหรือเวลา ที่จะอุดหนุนช่วยเหลือมีความสำคัญต่อผลลัพธ์การให้เงินเช่นเดียวกัน โดยปกติมนุษย์เราจะมีอคติที่ยึดสถานการณ์ผลประโยชน์ที่จะได้รับในปัจจุบันเป็นสำคัญมากกว่าที่จะมองประโยชน์ในอนาคต (present bias and partially naïve) ดังนั้น หากอุดหนุนเงินไปในจังหวะที่อยู่ในช่วงไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายทางด้านการศึกษา ก็อาจไม่ส่งผลให้เกิดการลงทุนในการศึกษามากนัก

ดังนั้น จึงมีการสำรวจพฤติกรรมในกรณีดังกล่าว โดยแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งจะได้รับเงิน 500 บาท เหมือนกัน ในกลุ่มแรกจะได้รับเงินภายในช่วงปิดเทอม (กลางเดือน เม.ษ. – ปลายเดือน เม.ษ.) ส่วนในกลุ่มที่สองจะได้รับเงินภายใน 1 – 2 สัปดาห์ก่อนเปิดภาคเรียน (สิ้นเดือน พ.ค. – ต้น มิ.ย.) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในกลุ่มที่ได้เงินช่วงใกล้เปิดเทอม สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับเงินช่วงปิดเทอม ประมาณ 50 บาท/คน โดยกลุ่มที่ได้รับเงินช่วงปิดเทอมใช้จ่ายเงินในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษามากกว่ากลุ่มที่ได้รับเงินช่วงเปิดเทอมประมาณ 105 บาท/คน โดยส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร และมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการใช้จ่ายเพื่อการเรียน โดยเฉพาะอุปกรณ์การเรียน และเงินติดตัวประจำวันของนักเรียน แต่ที่ใช้จ่ายในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ค่าชุดนักเรียน จากผลการศึกษาข้างต้น จะเห็นได้ว่า จังหวะหรือเวลาในการจ่ายเงิน มีผลต่อการลงทุนเพื่อการศึกษา

อ.ภูมิสิทธิ์ได้กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนประเด็นสุดท้าย คือ ครู ผู้ซึ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนตลอดเวลา ลักษณะและท่าทีของครูอาจจะส่งผลต่อทัศนคติของนักเรียน หากครูสื่อสารไปยังเด็กอย่างไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลต่อทัศนคติเด็กที่แคบลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น การศึกษาในอนาคตน่าจะต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้ง 3 กลุ่มในประเด็นอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น


| สรุป

อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ได้ทิ้งประเด็นที่น่าสนใจให้ขบคิดเพิ่มเติมถึงการนำแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาปรับใช้เป็นนโยบายต่าง ๆ เพื่อการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผู้คน โดยเฉพาะในแนวทาง nudge ที่จะช่วยวางกรอบแนวคิดและพฤติกรรมบางอย่าง โดยการออกแบบจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวโยงกับพฤติกรรมเหล่านั้น ว่าเอื้ออำนวยต่อการปรับพฤติกรรมหรือไม่ เพราะหากออกแบบการกระตุ้นพฤติกรรมผู้คนโดยขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมหรือโครงสร้างที่ครอบพฤติกรรมนั้น ๆ อยู่ ก็จะกลายเป็นความท้าทายสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน อาจกล่าวได้ว่าการปรับพฤติกรรมโดยเน้นไปที่ตัวปัจเจกเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ส่งผลมากนัก จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอื่น ๆ ที่จะเอื้อต่อการปรับพฤติกรรมควบคู่กันไป นอกจากนั้นแล้ว ในวงเสวนายังเห็นพ้องกันว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่จะช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางต่าง ๆ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงต้องอาศัยวิธีการและแนวทางอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับประเด็นและบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันไป


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
#SDG14 ระบบนิเวศ ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 การอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศและแหล่งน้ำบนบกและถิ่นที่อยู่อาศัย

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Pattarawut Phaha

    Manager of Knowledge Communications: ผู้อยากเห็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่วางอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในทุกอณูของสังคม

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น