ยิ่งโลกเดินหน้าเรียกร้องให้ปรับพฤติกรรมและแนวปฏิบัติที่ตระหนักถึงความยั่งยืนมากเท่าใด การกระทำที่ไม่จริงใจโดยหยิบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปเป็นเพียงโลโก้และการประกาศคำมั่น หรือการตัดสินใจลงมือทำในเชิงสัญลักษณ์ทางการตลาด แต่เป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุลที่เรียกว่า “SDG washing” นั้น จะยังมีอยู่รอการตรวจสอบและติดตามต่อไป จนกว่าจะเกิดความครอบคลุม (inclusive) และบูรณาการ (integrated)
แต่นั่นเป็นปัญหาใหม่ในยุคที่หลายฝ่ายพูดถึง SDGs หรือไม่? SDG Updates วันนี้ ชวนย้อนดูคำวิพากษ์ ‘ฟอกสี’ ตั้งแต่ Green washing, Pink washing, Blue washing จวบจน SDG washing ในวันนี้ ว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนโดยเฉพาะภาคธุรกิจ จะสามารถหลีกหนีการกระทำที่เป็น “การฟอกความยั่งยืน” ไปสู่การรับหลักการ SDGs ผนวกในกระบวนการคิดและพยายามสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการพัฒนาได้อย่างไร
“SDG washing” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อโลกยังติดกับดัก Green washing, Pink washing และ Blue washing
| Green washing
“กรีนวอชชิ่ง” หรือ “การฟอกเขียว” สามารถย้อนไปได้หลายทศวรรษที่ผ่านมาแล้วแต่จะอ้างอิงถึงแนวปฏิบัติใดของภาคธุรกิจ โดยมากมักกล่าวถึงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523) เป็นคำอธิบายการกระทำเมื่อบริษัทหรือบรรษัทเน้นการลงทุนไปกับการตลาด เพื่อปรับภาพลักษณ์ขององค์กรว่ามีนโยบายและแนวทางที่ ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ และพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากแต่เนื้อแท้ (ที่ถูกตรวจสอบและวิพากษ์โดยภาคประชาสังคม) อาจเป็นเพียงคำอวดอ้างมากกว่าที่จะยืนหยัดอยู่บนความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ที่ส่วนหนึ่งตั้งใจปรับพฤติกรรมหันมาใช้และสนับสนุนสินค้าและบริการที่ตระหนักถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริง
เมื่อสังคมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยไม่เพิ่มขยะ ไม่ปล่อยมลพิษจนจัดการไม่ได้ ลดการทำให้โลกร้อนขึ้น และต้องไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจนสิ้นซาก ด้วยการหันเข้าหาแนวปฏิบัติ – พัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์’ ที่โปรโมทความยั่งยืนมากขึ้น เมื่อนั้น กรีนวอชชิ่งจะยังคงอยู่รอให้มีการตรวจสอบ โดยทั่วไปปรากฏอยู่ใน 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่
- องค์กรเลือกปกปิดข้อเท็จจริงด้านลบบางประการ ด้วยการโฆษณาด้านที่ชวนฝันถึงแนวปฏิบัติสีเขียว
- องค์กรเลือกลงมือทำเพียงบางประการเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจะมุ่งมั่น แต่ละเลยหลักการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างครบองค์ประกอบหรือตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่ว่า ผู้บริโภคอาจจะถอดใจจากการสนับสนุนความยั่งยืนไปเสียก่อน เพราะเกิดความไม่เชื่อใจกับการฟอกเขียวของภาคธุรกิจ จนกลับไปเลือกทางเลือกธุรกิจที่ทำแบบเดิม ๆ เหมือนที่เคยเป็นมา (business-as-usual) เพราะไม่มีความแตกต่างกัน จุดนี้ยิ่งเป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
| Pink Washing
นอกจากมิติสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อกลับมาดูมิติสังคม โดยเฉพาะการรณรงค์สิทธิสตรีและสิทธิของชุมชนความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มีสีสันนั้น มักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “พิ้งวอชชิ่ง” หรือ “การฟอกชมพู” ที่เป็นการแนบชิด ‘คำ’ ว่าเราส่งเสริมสิทธิทางเพศ ไปกับ ‘การสร้างกระแส’ ของการตลาดสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ ว่าเปิดรับคนทุกเพศหรือเป็นมิตรต่อคนทุกเพศ ขณะที่หลักการในการส่งเสริมสิทธิสตรีและ LGBTQ กลับไม่ถูกนำไปผลักดันผ่านทางกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งนโยบายและการปฏิบัติภายในองค์กรหรือที่ทำงาน ในหลายกรณี พนักงานเพศหญิงและ LGBTQ มักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติหรือการคุกคามเพียงเพราะความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ
| Blue Washing
การฟอกความยั่งยืนไม่ได้จบเพียงแต่มิติสิ่งแวดล้อมและสังคม “บลูวอชชิ่ง” หรือ “การฟอกน้ำเงิน” เผยให้เห็นการฟอกที่แยบยลกว่านั้น เพราะหมายถึงการกระทำของธุรกิจที่อาศัยการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ผ่านทาง UN Global Compact ซึ่งสนับสนุนหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน อันหมายรวมถึงจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และภาครัฐ นั่นทำให้ก้าวของการเข้ามาร่วมขบวนรถไฟที่เคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนได้สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นเครื่องมือการันตีความมุ่งมั่น โดยที่แนวปฏิบัติอาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้จะประทับโลโก้ความเป็นหุ้นส่วนกับ UN ก็ตาม
ข้อเขียนบางประการที่เป็นการวิพากษ์จุดอ่อนของ UN Global Compact คือ แม้นำเสนอหลักการนำทางให้ภาคธุรกิจตอบรับนำไปปรับกระบวนการทำงานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิสิ่งแวดล้อม ทว่ายังเป็น ‘การดำเนินการโดยสมัครใจ’ โดยปราศจากกลไกที่ใช้ติดตามและตรวจสอบอย่างเป็นมืออาชีพต่อการดำเนินงานของธุรกิจ/องค์กรนั้น ๆ หมายความว่า ผลลัพธ์ของการดำเนินงาน ความสอดคล้องต่อเป้าหมาย และผลกระทบที่จะต้องสื่อสารผ่านรายงานความก้าวหน้าหรือรายงานประจำปีก็เป็นไปด้วยความสมัครใจของธุรกิจ/องค์กรนั้นด้วยเช่นกัน
|| SDG Washing ||
“SDG washing” หรือ “การฟอกเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นขั้นกว่าหรือเป็นร่มใหญ่ของ Green washing, Pink washing, และ Blue washing ในบางโอกาสเราจะเห็นคำที่คล้ายคลึงกันว่าเป็น ‘Sustainability washing’ หรือ การฟอกความยั่งยืน ‘Impact washing’ หรือ การฟอกผลกระทบ (ฟอกจากด้านลบให้เป็นด้านบวก) และ ‘Social washing’ หรือ การฟอกประเด็นทางสังคม อาทิ ด้านสิทธิแรงงาน
ในลักษณะเดียวกันกับการฟอกสามสีข้างต้น SDG washing หมายถึงการที่ภาคธุรกิจหยิบยืมฉลากการรณรงค์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปแต่งแต้มองค์กรให้ดูดีขึ้น การประกาศว่าจะดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปจนถึงการกำหนดเป้าหมายของนโยบายองค์กรเป็นปีที่สอดคล้องไปกับปีที่ SDGs กำหนด (… ภายในปี 2573) ทั้งรายงานผลการดำเนินได้มีการกล่าวถึงกรอบวาระระดับโลกนี้ด้วย ทว่าข้อเท็จจริงนั้นอาจไม่ได้นำหลักการผนวกเข้าไปปรับปรุงในกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานอย่างจริงจังจนเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีส่วนช่วยสร้างผลกระทบด้านดีที่จะร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อน (contributions) การพัฒนาให้ยั่งยืนขึ้นตาม 17 เป้าหมาย
ที่ต้องเท่าทันคือในบางคราว โครงการ CSR หรือป้ายกำกับ “โซลูชันแก้ปัญหาเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG solutions) อาจเป็นเพียง SDG washing ก็เป็นได้ ข้อมูลจากรายงาน Responsible Business Trends Report 2018 ที่ติดตามแง่มุมของการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังเผยให้เห็นความกังวลว่าบรรดาบริษัทต่าง ๆ อาจใช้ SDGs เป็นหนึ่งในเครื่องมือการสื่อสารเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้ปรับกลยุทธ์และการวัดผลที่สอดคล้องและเชื่อมโยงการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือสร้างโอกาสใหม่แต่อย่างใด
เท่าทันคำอ้าง: ดู 6 ตัวอย่างของ false claims
เพื่อที่ให้ผู้บริโภคเท่าทันและสามารถเข้ามาร่วมตรวจสอบได้ว่าสินค้าและบริการที่มาจากการผลิตและการดำเนินงานของบริษัท/องค์กรหนึ่ง เป็นไปตามการประกาศให้ความสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนจริงหรือไม่ หรือยังมีประเด็นที่ขัดแย้งกันเอง ตัวอย่าง 6 ประการด้านล่างนี้ อาจช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
01 – ธนาคารซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง (carbon offset – การชดเชยคาร์บอน) แต่ไม่ได้ตระหนักหรือละเลยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารเข้าไปลงทุนในกิจกรรมหนึ่งและมีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อน
02 – แบรนด์เสื้อผ้าบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กให้กับโครงการของ UNICEF แต่ไม่จัดการกับปัญหาแรงงานเด็กในห่วงโซ่การผลิตของตนเอง
03 – ประเทศที่รณรงค์ภาพลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชุมชน LGBTQ เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาการเลือกปฏิบัติบนฐานความแตกต่างทางเพศภายในประเทศได้
04 – บริษัทผลิตกระดาษที่ย้ำว่าเลือกใช้วัสดุที่ได้มาจากป่าซึ่งมีการจัดการอย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตกระดาษที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือใช้สารเคมีในการฟอกสี
05 – บริษัทน้ำมันที่ประกาศว่าสนับสนุนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม แต่ปฏิเสธการมีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด และน้ำสะอาด หรือปล่อยน้ำมันรั่วไหลในแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
06 – บรรษัทข้ามชาติที่มีห่วงโซ่การผลิตอยู่ในหลายประเทศและเป็นส่วนหนึ่งของ UN Global Compact หรือปรากฏอยู่ในหลายแคมเปญของ UN แต่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาสิทธิแรงงานได้
หากองค์กรพูดว่าเรามีข้อเสนอเป็นทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง (empowerment) แต่ในห่วงโซ่การผลิตขององค์กรนั้นยังมีการใช้แรงงานบังคับ เช่นนี้ไม่ถือว่าไม่ตอบโจทย์ SDGs (#SDG5 ↑ #SDG8 ↓) หรือ หากบริษัทผลิตรถยนต์ทำการตลาดโดยเผยแพร่ว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังคงใช้แบตเตอรี่โคบอลต์ซึ่งได้มาจากการใช้แรงงานเด็กอายุ 5 ขวบจากประเทศคองโก เช่นนี้ก็ไม่ถือว่าตอบโจทย์ SDGs เช่นกัน (#SDG13 ↑ #SDG8 ↓) โดยสรุป บริษัท/องค์กรไม่สามารถประกาศการดำเนินการเฉพาะด้านดี โดยละเลยผลกระทบด้านลบจากการดำเนินการหนึ่งได้โดยสิ้นเชิง
ทำอย่างไรให้ไม่เผลอตัวฟอกความยั่งยืน: จาก SDG washing สู่ “SDG enabling” ความยั่งยืนที่แท้จริง
ที่เราเห็นได้จากกรณีของ Green washing โดยพื้นฐานที่สุดคือการติดฉลากสินค้าและบริการ อาทิ คำว่า ‘eco-friendly’ หรือ ‘green’ จะต้องมั่นใจว่าในแนวปฏิบัติของบริษัทเป็นเช่นนั้นจริง ๆ และหลีกเลี่ยงคำอวดอ้างสรรพคุณที่ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานสนับสนุน ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถสำรวจได้ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ ว่าเป็นวัสดุที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ตัววัสดุทำมาจากของรีไซเคิลหรือสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้หรือไม่ กระบวนการผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยอย่างไร บรรจุภัณฑ์ก่อให้เกิดขยะมากขึ้นหรือไม่ และการออกแบบเน้นให้สามารถนำมาซ่อมแซมใช้ต่อได้หรือต้องซื้อของใหม่ เป็นต้น
ส่วนรายละเอียดของการดำเนินงานในภาพใหญ่ขึ้น ธุรกิจเพื่อสังคม sopact ได้แนะนำ 5 ขั้นตอนที่ช่วยให้บริษัทหลีกเลี่ยง SDG washing ได้ สรุป 3 ข้อสำคัญหลัก ดังนี้
- ปรับแนวปฏิบัติของบริษัทให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์หรือเป้าหมายย่อย (targets) ไม่ใช่ตัวเป้าหมายใหญ่ (goals) – เพราะตัวชี้วัดที่เป็นตัวติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานนั้นยึดโยงอยู่กับเป้าประสงค์ หากเราดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ ก็จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงการดำเนินงานเข้ากับเป้าประสงค์ต่าง ๆ ข้ามเป้าหมาย (mapping) จะเป็นตัวช่วยให้สามารถตอบโจทย์จุดประสงค์หรือวิสัยทัศน์ของการดำเนินงานได้อย่างรัดกุมและครอบคลุมขึ้น
- ตั้งต้นว่าจะวัดผลการดำเนินงาน – เน้นรายงานผลกระทบ (impact) และผลลัพธ์ (outcome) มากกว่าบอกว่าทำกิจกรรมอะไรมาแล้วสรุปด้วยผลผลิต (output) – การปรับมามองการวัดผลที่ผลลัพธ์ก่อน จะช่วยให้ออกแบบโครงการ การดำเนินงาน หรือการผลิตที่มองผลกระทบได้ครอบคลุมหลากมิติหรือหลากเป้าหมาย SDGs มากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลกแนะนำว่า การประเมินผลกระทบสามารถทำได้ 2 กรณี หนึ่ง คือการตั้งต้นประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินงานขององค์กร อาทิ ที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีต่อความเท่าเทียมทางสังคม และที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสอง คือ การประเมินผลกระทบของการลงทุน โดยเปรียบเทียบว่าหากไม่มีการลงทุนในด้านนี้แล้ว จะเป็นอย่างไรหรือจะแตกต่างอย่างไร
- การออกแบบกลไกตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงาน – ข้อนี้เป็นหนึ่งข้อสำคัญและเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เพราะการติดตามและตรวจสอบให้บริษัท/องค์กรมีข้อมูลและข้อเท็จจริงของผลการดำเนินงาน จะทำให้ทราบว่าที่กำลังดำเนินงานอยู่นั้นเข้าข่ายเป็นการฟอกความยั่งยืนอยู่หรือไม่
ในเชิงหลักการ นอกจากหลักการความครอบคลุม (inclusive development) ส่วนสำคัญคือหลักการพัฒนาอย่างบูรณาการ (integrated development) เพราะการกระทำหนึ่งส่งผลกระทบต่ออีกการกระทำหนึ่งหรือภาคส่วนอื่น และความเชื่อมโยงเช่นนี้มีหลายระดับทั้งที่ขัดแย้งกัน (trade-off) หรือเสริมแรงกัน (synergy) การป้องกันไม่ให้เกิด SDG washing ไม่ใช่แค่ตรวจสอบว่าบริษัท/องค์กรทำตามคำสัญญาที่ประกาศหรือไม่ แต่ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตต้องตรวจสอบ ‘ความสมดุลของการพัฒนา’ โดยเน้นที่การเสริมแรงกัน อาทิ การเพิ่มการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทะเล (SDG 14.7) ช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่าและธุรกิจ SMEs (SDG 8.5 ↑ และ 8.9 ↑) และการเปิดโอกาสใหม่ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม (SDG 9.1 ↑) ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงงานและโอกาสอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้มากขึ้น (SDG 5.5 ↑)
จริงอยู่ที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องการการสื่อสารในวงกว้างให้มากและบ่อยครั้งขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้และร่วมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปพร้อมกันในหลายภาคส่วน ทว่า SDGs ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรูหรือเครื่องมือสื่อสาร (communication tool) เพื่อย้ำว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเท่านั้น ตัวอย่างที่ยกมาเพื่ออธิบายการฟอกความยั่งยืน – ฟอกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งหมายถึงการดำเนินงานที่ “ไม่สมดุล” และเมื่อไม่สมดุลก็ย่อมมีกลุ่มประชากรบางส่วนตกหล่นไปจากการพัฒนา และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ SDGs พยายามจะสื่อสาร
นอกจากนี้ การฟอกความยั่งยืนที่มาจากความไม่ซื่อสัตย์ของบริษัท/องค์กรจนเกิดข้อครหาจากภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรณรงค์ นักข่าว และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในท้ายที่สุดย่อมไม่เป็นผลดีกับตัวองค์กรเองด้วย ทั้งด้านความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง และความสัมพันธ์กับเครือข่าย ในทางกลับกัน หากรับกรอบแนวคิด SDGs มาปรับใช้อย่างจริงจัง (แม้ว่าจะเป็นการกระทำโดยสมัครใจ) หรือการผนวกแนวคิดที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Dual Diligence) โดยซื่อสัตย์กับผู้บริโภค ย่อมจะเป็นผลดีมากกว่าต่อทั้งบริษัทและสังคมในภาพรวม และสามารถกล่าวได้ว่ามีส่วนร่วม “contribute” ให้กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SDG Enabling
– SDG 101 | รู้หรือไม่? ปัญหาเชื่อมโยงกับ SDGs แต่ละเป้าหมายต่างรูปแบบและส่งผลแตกต่างกัน
– SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
– SDG Updates | The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | ACT NOW! in “DECADE OF ACTION (2021-2030)” : อัปเดตความก้าวหน้า สำรวจความท้าทาย แล้วลงมือทำได้เลย!
– SDG Updates | ทำไมนโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืน ?
– SDG Updates | โค้งสุดท้ายก่อน 2030: แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน?
แหล่งอ้างอิง:
How to spot greenwashing – and how to stop it (WEF)
What Is Greenwashing? (businessnewsdaily)
Green, Blue, Pink and Social Corporate Washing (abtmarkets)
The rise of pride marketing and the curse of ‘pink washing’ (conversation)
‘Blue wash’ instead of human rights (DW)
Responsible Business Report Finds High Risk of “SDG Washing” (IISD)
Ever heard of SDG washing? The urgency of SDG Due Diligence (OECD)
Reporting the SDGs: How to get it right? (KPMG)
how to avoid sdg washing? (sopact)
Last Updated on ธันวาคม 16, 2021