Site icon SDG Move

เพียงหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่พอ แต่ต้องทำให้เมืองเป็น “compact city” ด้วย ถึงจะลดการปล่อยก๊าซได้เร็วขึ้น

การจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งในเมือง แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กแต่มีนัยสำคัญต่อการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระนั้น นักวิจัยระบุว่า การสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้ยานพาหนะไฟฟ้า อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า จะสัมฤทธิ์ผลไปในทิศทางที่ดี ต้องมาพร้อมกับการผลักดันการพัฒนาเมืองให้เป็น “เมืองกะทัดรัด” หรือ “เมืองกระชับ” (compact city) มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องเป็นเมืองที่เดินได้ ปั่นจักรยานได้ และเน้นพัฒนาขนส่งสาธารณะด้วย เมื่อมีองค์ประกอบที่ว่านี้จึงจะช่วยผนึกกำลังปรับเมืองให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วมากยิ่งขึ้น

Heather Thompson CEO ของ Institute for Transportation and Development Policy มีความเห็นว่า การหันมาสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนยานพาหนะ โดยให้ทุกคนออกไปหาซื้อยานพาหนะอิเล็กทรอนิกส์มาครอบครอง ไม่ใช่ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

งานวิจัยของสถาบันดังกล่าว ศึกษาฉากทัศน์ของระบบการขนส่ง 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. การดำเนินงานอย่างที่เคยเป็นมา (business-as-usual)
  2. การปรับปรุงขนานใหญ่ให้ขนส่งสาธารณะและเอกชนขับเคลื่อนด้วยอิเล็กทรอนิกส์/ไฟฟ้า (massive electrification) ภายในปี 2593
  3. การเปลี่ยนแปลงให้การขนส่งส่วนใหญ่ภายในเมือง (major shift) ไม่ต้องใช้รถยนต์ (non-car) และ
  4. การพัฒนาโดยมีส่วนผสมของการเปลี่ยนแปลงทั้งยานพาหนะที่หันมาขับเคลื่อนด้วยอิเล็กทรอนิกส์/ไฟฟ้า ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงภาคขนส่งของเมืองด้วย (high EV+ shift combination)

ผลสรุปจากการศึกษาพบว่า หากตั้งเป้าหมายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทำให้โลกร้อนขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซียลเซียสตามข้อตกลงปารีส ฉากทัศน์ที่เป็นการผสมผสานวิธีการทั้งตัวยานพาหนะและการพัฒนาเมืองด้วย (ข้อ 4) จะช่วยให้ภายในปี 2563 – 2593 สามารถดำเนินการได้สัมฤทธิ์ผลโดยสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

หัวใจสำคัญที่มากไปกว่าการหันมาใช้ยานพาหนะ/รถยนต์ไฟฟ้าคือ จะต้องเป็นการผลักดันการผสมสารดังกล่าวให้เกิดขึ้นในสเกลของระดับโลก โดยจะต้องทำไปพร้อมกับการลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนนลง ขณะเดียวกัน วิธีการที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมและทำได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด คือการสนับสนุนเลนปั่นจักรยานและทางเดิน ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งให้สามารถเข้าถึงในทุกที่ที่มีผู้อยู่อาศัย ในแง่นี้ จึงเป็นการปรับวิธีคิดด้วยที่ว่า จะต้องเป็นการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งที่คำนึงถึงคนในเมืองก่อนเป็นอันดับแรกมากกว่าการคิดถึง “รถยนต์” ก่อนเป็นอันดับแรกอย่างที่เป็นแนวคิดหลักในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนเมืองให้เป็น “เมืองกะทัดรัด” ภายในปี 2593 จะสามารถช่วยลดต้นทุนของภาคขนส่งสาธารณะและเอกชนในเมืองลงได้ราว 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเมื่อเปรียบเทียบกับฉากทัศน์การดำเนินงานอย่างที่เคยเป็นมา (ข้อ 1) และทางเลือกการปรับให้ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (ข้อ 2)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ และคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573
#SDG13 การจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า

แหล่งที่มา:
Electric vehicle and ‘compact’ city combo could reach emissions targets (Thomson reuters foundation)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version