รายงานฉบับใหม่ล่าสุดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่สำรวจช่องว่างของการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยพบว่ายังมีประชากรในภูมิภาคนี้อีกถึงประมาณ 1.6 พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายงาน ‘Extending social health protection: Accelerating progress towards Universal Health Coverage in Asia and the Pacific‘ เผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้า ความท้าทาย และช่องว่างความครอบคลุม และบทบาทสำคัญของการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ เช่น การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage: UHC) และ การคุ้มครองทางสังคมถ้วนหน้า (universal social protection: USP) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่จะช่วยปกป้องสุขภาพ การงาน และรายได้ของผู้คน โดยเฉพาะภายในวิกฤตโควิด-19 นี้
ตัวเลขจากรายงานพบ ความไม่เท่าเทียมกันของการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพทั้งภายในและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยพบว่ามีแรงงานในภูมิภาคนี้ไม่ถึงครึ่งที่มีหลักประกันด้านรายได้ตามกฎหมายเมื่อเจ็บป่วย ขณะที่มีผู้หญิงเพียง 45.9% ที่ได้รับการคุ้มครองในกรณีที่ไม่มีรายได้ระหว่างคลอดบุตร และช่องว่างนี้ยังส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นสัดส่วนต่อผู้หญิงและผู้ชายที่มีการจ้างงานและรายได้ที่ไม่มั่นคงหรือไม่สม่ำเสมอ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนแรงงานข้ามชาติ คนงานภาคเกษตร และคนงานที่ทำงานบ้าน และครอบครัวของกลุ่มคนเหล่านี้รุนแรงกว่า
รายงานจาก ILO ฉบับนี้ตระหนักถึงความก้าวหน้าของการขยายการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ แต่ยังคงมีประเด็นปัญหาเรื่องความเพียงพอของผลประโยชน์การคุ้มครอง อันเนื่องมาจากทรัพยากรเงินทุนที่ไม่แน่นอน นอกจากนั้น ยังมีความต้องการบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากประชาชนในกลุ่มชนชั้นกลาง ที่จะได้รับจากผู้ให้บริการเอกชนแต่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในนโยบายคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพเบื้องต้นที่รัฐมีให้
ข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับนี้ กล่าวถึง การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน ตลอดจนการออกแบบและการบริหารโครงการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มความครอบคลุมและความเพียงพอของผลประโยชน์ และเรียกร้องให้มีงบประมาณมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินให้เกิดขึ้นจริง
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG1 ยุติความยากจน - (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573 #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี - (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ - (10.4) เลือกใช้นโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : 1.6 billion across Asia and the Pacific lack access to social health protection (ILO)
Last Updated on ธันวาคม 21, 2021