ต้นเดือนธันวาคมนี้ สหภาพยุโรปเปิด (ร่าง) ระเบียบที่เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขและกำหนดเกณฑ์ทำงานของบริษัทแอปพลิเคชัน/แพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนแรงงาน “gig workers” ที่กำลังเติบโตขึ้นมาก และตอบสนองความต้องการของกลุ่มแรงงานชั่วคราว – แรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้ได้ หากร่างฯ ดังกล่าวผ่านไปด้วยดี จะเป็นการจัดประเภทแรงงานกลุ่มนี้เป็น “พนักงานในระบบ” (employees) ที่ได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิตามกฎหมายแรงงาน
แรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์มมีบทบาทสำคัญที่เห็นชัดเจนขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 และเป็นที่พูดถึงมาตลอดทั้งปี 2564 โดยมักเป็นกลุ่มที่ตกหล่นไปจากกฎหมายด้านการจ้างงานและแรงงาน จนมีการเรียกร้องต่อบริษัทเจ้าของแอปพลิเคชัน รวมถึงต่อรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงสิทธิแรงงานของพวกเขา อาทิ ในด้านค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน และสิทธิในการลา
ในกรณีของสหภาพยุโรป (ร่าง) ระเบียบนี้เน้นที่การเพิ่มการตรวจตราและตรวจสอบอัลกอริทึมของบริษัทแอปพลิเคชัน/แพลตฟอร์มที่ใช้ในการจัดการแรงงาน อาทิ บริษัทที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารและบริษัทที่ให้บริการส่งอาหาร รวมถึงว่าจะเน้นระบุสถานะของแรงงานที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทดังกล่าว
โดย (ร่าง) ระเบียบมีการกำหนดเกณฑ์สำหรับบริษัท ทั้งการดำเนินการในลักษณะที่มีการกำหนดอัตราการจ่ายค่าแรง มีการประเมินผลการดำเนินงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการกำหนดไม่ให้พนักงานเลือกเวลาทำงานได้อย่างอิสระ สามารถรับงานหรือเลือกใช้บริการผู้รับเหมาช่วง (subcontractors) กำหนดให้พนักงานต้องเคารพกฎในการทำงานของบริษํท เป็นต้น หากบริษัทมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดอย่างน้อย 2 ข้อ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจึงเกิดขึ้น โดยบริษัทเป็น “นายจ้าง” และผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทนั้นจะถือว่าเป็น “พนักงาน” ที่มีสิทธิได้รับค่าแรงขั้นต่ำ มีสิทธิลาพักผ่อนโดยที่ยังได้รับค่าจ้าง ได้สิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วยหรือตกงาน มีเงินบำนาญ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น
ซึ่งหากร่างนี้สำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์มราว 4.1 ล้านคนทั่วสหภาพยุโรป ที่ปัจจุบันอาจรับงานจากบริษัทแอปพลิเคชันที่เดียวหรือมากกว่าหนึ่งโดยเป็นไปได้ว่าได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ให้สามารถมีรายได้ที่มากขึ้นได้
กระนั้น แม้หลายบริษัทแอปพลิเคชันจะเห็นด้วยและพร้อมจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับแรงงาน แต่บริษัทบางบริษัทยังมีความกังวลว่า นี่จะเป็นกฎระเบียบที่กระทบต่อความต้องการบางประการของแรงงานที่มีต่อลักษณะพิเศษของงานประเภทนี้ อาทิ ความพิเศษในด้านความยืดหยุ่นที่จะเลือกรับงานและเลือกเวลาทำงาน
อย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวเป็นในลักษณะของการ “แนะนำ” โดยกำหนดเงื่อนไขสภาพแวดล้อมในการทำงานขั้นต่ำ (ที่เปิดทางอนุญาตให้ปรับปรุงแก้ไขต่อได้) ในท้ายที่สุด ร่างฯ จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภายุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศเห็นพ้องกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– ILO เผยแพร่ ‘World Employment and Social Outlook 2021’ : งานที่ดีสำหรับแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ ‘Gig Workers’
– แรงงาน “gig workers” ฝากเอเชีย เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายเฉกเช่นแรงงานในระบบ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานหญิง และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
แหล่งที่มา:
Millions of EU gig workers could be heading for employee status (Al jazeera)
EU to propose reclassifying some gig workers as employees (POLITICO)